ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สามารถใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจได้ นับว่าเป็นหัวใจหลักของการใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด โดยที่ทักษะนี้จะถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิจารณญาณ
ทุกคนคงเห็นค่าของคนที่มีความคิดดี คิดวิเคราะห์ คิดแบบฉลาดได้ ซึ่งหลายคนก็คงให้เหตุผลว่าคนที่มีความคิดฉลาด มีวิจารณญาณ เป็นทักษะที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด อย่างไรก็ตามงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายที่ก็ได้ระบุไว้แล้วว่าความคิดอย่างมีวิจารณญาณสามารถฝึกซ้อมกันได้ ทุกคนสามารถคิดอย่างฉลาดได้
แต่ในยุคสมัยที่สอนให้คนท่องจำและทำตามกฎเกณฑ์ระเบียบต่างๆมากกว่าการสอนเหตุผล เราก็จะเห็นว่าการสอนให้คนคิดเป็นและตัดสินใจด้วยตัวเอง กลายเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญน้อยลง ในบทความนี้เรามาลองดูกันว่า Critical Thinking คืออะไร มีความสำคัญยังไงบ้าง และกระบวนการที่จะช่วยทำให้เรามี Critical Thinking มากขึ้นต้องทำยังไง
Critical Thinking คืออะไร?
Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิจารณญาณ หมายถึงความสามารถในการคิดอย่างถี่ถ้วนและมีเหตุผล เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราเชื่อ ประโยชน์ของการคิดแบบ Critical Thinking คือการทำให้เราสามารถเชื่อมโยงตรรกะต่างๆ และสามารถสร้างข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลได้
ก่อนอื่นเลยเราต้องแยกแยะก่อนว่า คนที่ท่องจำเยอะ มีความจำดี ไม่ได้แปลว่าจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการตัดสินใจได้ ดั่งคำที่คนพูดไว้ว่า ‘ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด’ นั่นก็เป็นเพราะว่าทักษะในการจำและความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลไม่ใช่ทักษะที่มักถูกพัฒนาพร้อมกัน
และในชีวิตจริง คนที่มีความจำเหมือนถ่ายภาพ (photographic memory) ที่สามารถจำทุกอย่างที่ตัวเองเห็นได้ทันที ก็ไม่จำเป็นต้องฉลาด มี IQ สูงเสมอไป…ต่างจากที่เราเห็นในหนังฝรั่งมาก
คนที่สามารถคิดแบบ Critical Thinking (หรือมีวิจารณญาณ) เป็นคนที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสรุปผลลัพธ์จากสิ่งที่รู้ และเข้าใจวิธีใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหา หรือสามารถตอบคำถามตัวเองได้ว่าหากเราไม่รู้ มีข้อมูลไม่พอ เราจำเป็นที่จะต้องทำอะไรต่อเพื่อที่จะหาข้อมูลให้เพียงพอ
หลายคนมองการคิดแบบมีวิจารณญาณว่าเป็นทักษะในการ ‘เถียงผู้อื่นให้ชนะ’ โดยเฉพาะการ ‘เถียงคนที่ไม่มีเหตุผล’ ในส่วนนี้เราสามารถมองได้ว่าทักษะ Critical Thinking ช่วยให้เราหา ‘จุดอ่อนในตรรกะผู้อื่น’ ซึ่งเราจะใช้ความรู้นี้ ในการเอาเปรียบผู้อื่น ทำให้คนอื่นรู้สึกผิด หรือจะช่วยให้ผู้อื่นตัดสินใจได้ดีขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับนิสัยและความสามารถในการสื่อสารของแต่ละคนแล้ว
แต่ในความเป็นจริง Critical Thinking ควรเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเราในการตัดสินใจ และเราก็สามารถใช้วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ (Constructive Criticism) เพื่อช่วยเหลือคนอื่นให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นได้ด้วย
ประโยชน์ของ Critical Thinking – ทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
ส่วนมากแล้วทุกคนก็คงเห็นภาพว่าคนที่ฉลาด คนที่มีตรรกะ คนที่มีวิจารณญาณมากกว่าคนอื่น นั้นมีความได้เปรียบยังไงบ้างในชีวิต ในส่วนนี้เรามาดูกันว่า Critical Thinking สามารถทำให้คุณมีทักษะในการคิดแบบไหนเพิ่มได้บ้าง
เชื่อมโยงตรรกะและไอเดียต่างๆได้อย่างมีเหตุผล
สร้างและวิเคราะห์ข้อโต้แย้ง
หาจุดบกพร่องและข้อเสียในเหตุผลต่างๆ
แก้ปัญหาอย่างมีระบบ
เข้าใจและสามารถหาเหตุผลให้กับความเชื่อของตัวเองได้
โดยเบื้องต้นแล้ว ทักษะเหล่านี้ช่วยให้คุณตอบโจทย์ปัญหาที่มี ‘คำตอบตายตัว’ ได้ดี เช่นทำข้อสอบในห้องเรียน ทำงานด้านสายวิจัย อย่างไรก็ตามทักษะ เหล่านี้ก็เริ่มใช้ยากขึ้นเรื่อยๆในสังคมที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว ในส่วนนี้ไม่ได้แปลว่า Critical Thinking มีความสำคัญน้อย แต่แค่ ‘การนำ Critical Thinking ไปใช้’ ในชีวิตจริง ต้องอาศัยทักษะต่างๆเพิ่มด้วย เช่นทักษะการสื่อสาร ทักษะการเข้าสังคม ในส่วนนี้หากใครสนใจ ผมแนะนำให้ลองอ่านบทความของผมเรื่อง Empathy และ การเห็นอกเห็นใจ ที่จะสอนให้คุณคิดผ่านอีกมุมหนึ่งของเหตุผลนะครับ
หากเราพูดถึงเรื่องความคิด การเข้าใจเหตุผล และการตัดสินใจ สิ่งที่เรียกว่า Critical Thinking ก็เป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้คุณตัดสินใจผิดพลาด และประเมินสถานการณ์ต่างๆผิด ในขณะเดียวกัน ความคิดและเหตุผลก็เป็นสิ่งที่ทำให้คุณ ‘อยู่เหนืออารมณ์’ ของตัวเองด้วย นับว่าเป็นจุดสำคัญในการเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง
ความสำคัญของ Critical Thinking และการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล
ในส่วนที่แล้ว เราได้ดูเรื่องทักษะและประโยชน์ต่างๆของการมี Critical Thinking แต่เราก็อาจจะถามได้อีกว่าทักษะเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร คนที่มี Critical Thinking จะสามารถอยู่ในสังคมได้ดีขึ้นหรือเปล่า หรือจะกลายเป็น ‘แกะดำ’ ที่ไม่มีใครเค้าใจกันนะ
‘การเข้าใจผิด’ หรือ ‘ความเชื่อแบบผิดๆ’ มีอยู่ในโลกนี้เต็มไปหมด เป็นกันทุกประเทศ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือความเชื่อผิดๆที่ส่งผลไม่ดีทำร้ายคนอื่น เช่นการดูถูก การเหยียดชนชั้น ความคิดแง่ลบแบบนี้แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอันดับ 1 ของโลกก็ยังมีอยู่
มีคนเคยพูดไว้ว่า ‘ความคิดเห็นเป็นรูปแบบของความรู้ของมนุษย์ที่ต่ำที่สุด’ (Opinion is really the lowest form of human knowledge) คนที่มีความคิดเห็นอยากจะพูดอะไรก็ได้ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำพูด ไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่พูดจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกยังไงหรือนำไปดำเนินการชีวิตยังไงต่อ
และในสังคมที่มีแต่ ‘ความคิดเห็น’ เต็มไปหมด การมีวิจารณญาณ หรือ Critical Thinking ก็เป็นเครื่องมือที่เราต้องใช้ในฐานะผู้ฟังที่รับรู้ข้อมูล เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้คล้อยตามไปในทิศทางที่ไม่ดี (ส่วนทักษะที่จำเป็นของคนที่พูดก็คือ การเห็นอกเห็นใจ หรือ empathy)
แต่แน่นอนว่าชีวิตจริงมีปัจจัยต่างๆมากมายเต็มไปหมด สิ่งที่เหมือนจะเป็นความจริงตายตัวสำหรับเรา ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นความจริงกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความจริง’ เกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และประสบการณ์ชีวิต ในเมื่อความเชื่อ เทรนต่างๆ หรือแม้แต่ประสบการณ์ชีวิตก็สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ความท้าทายของการอยู่ในสังคมก็คือการตัดสินใจและตีความให้ถูกว่า สิ่งไหนคือความจริง สิ่งไหนคือตรรกะ สิ่งไหนคือความคิดเห็นแบบผิดๆ
…และสิ่งที่สำคัญมากกว่าก็คือ หากเรามีตรรกะหรือความคิดของตัวเองแล้ว เราจะนำสิ่งนี้ไปทำอะไรต่อ
ในอดีตคนที่เศร้าคือคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่เป็น ในปัจจุบันคนที่เศร้าอาจจะเป็นผู้ป่วยที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนความสุขไม่เพียงพอ สุดท้ายแล้วตรรกะของมนุษย์ก็ถูกจำกัดด้วยสิ่งที่เรารู้ และในจักรวาลที่มีความรู้มากเกินกว่าที่มนุษย์จะศึกษาได้หมด ‘ตรรกะ’ ก็กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้
กระบวนการ Critical Thinking ที่ช่วยพัฒนาทักษะความคิด
กระบวนการ Critical Thinking จะถูกแบ่งออกมาเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ การหาความรู้ ทำความเข้าใจข้อมูล การเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ และ การประเมินผล 5 ขั้นนี้เป็นกระบวนการง่ายๆที่จะช่วยให้คุณคิดแบบมีเหตุผลและรอบคอบมากขึ้น และทุกคนสามารถทำได้จริง
คำว่า ‘คิดอย่างมีวิจารณญาณ’ เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าดี แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนให้ความสำคัญอยากจะพัฒนากันเท่าไร วิจารณญาณ และ ตรรกะ ถูกมองว่าเป็นเรื่องของคนฉลาด เป็นทักษะของเด็กเรียน ซึ่งคนส่วนมากคิดว่าหากเราไม่เกิดมาฉลาดตั้งแต่แรก เราก็คงต้องใช้ความพยายามเยอะในการพัฒนาตรรกะ … ซึ่งก็คงไม่มีใครอยากจะใช้เวลาส่วนตัวไปกับการทำเรื่องพวกนี้
เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผมอยากจะขอแนะนำ 5 ขั้นตอนง่ายๆ ที่จะช่วยฝึกให้คุณคิดได้เป็นระบบมากขึ้น ใช้เวลานิดเดียวเอง คนที่สมองไว สามารถคิดแบบมีวิจารณญาณเป็นแล้ว 5 ขั้นตอนนี้สามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่กี่วินาทีในสมอง แต่สำหรับคนที่ยังคิดช้าอยู่ รู้สึกหัวไม่ไวเหมือนคนอื่น ก็ให้ค่อยๆฝึกความคิดผ่าน 5 ขั้นตอนนี้ เราไม่จำเป็นต้องคิดเร็วได้เหมือนคนอื่นตั้งแต่วันแรก แต่เราสามารถฝึกให้ตัวเองคิดอย่างมีหลักการได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ให้เรานำทุกการตัดสินใจที่สำคัญมาคิดผ่านขั้นตอนที่ 1 ไปขั้นตอนที่ 2 จนถึงขั้นตอนที่ 5 แล้วค่อยทำการตัดสินใจนะครับ
#1 เข้าใจเป้าหมาย ในส่วนนี้จะเป็นการตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะคิดวิเคราะห์เรื่องอะไร บางครั้งอาจจะเป็นการวิเคราะห์ตรรกะของความคิดเห็นผู้อื่น บางครั้งก็อาจจะเป็นการพิจารณาเลือกทิศทางการตัดสินใจที่ดีที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้ ในส่วนนี้คุณแค่ตอบตอบคำถามก็เพราะว่าคุณมีปัญหาอะไรนะ คุณอยากจะแก้ปัญหานี้หรือเปล่า
#2 ทำความเข้าใจข้อมูล หากคุณรู้แล้วว่าคุณอยากจะแก้ไขปัญหาอะไร ในส่วนนี้เป็นการเรียบเรียงข้อมูลให้มากที่สุด อาจจะเป็นการหาข้อมูลเพิ่มเติม การสอบถามข้อมูลจากคนอื่น หรือการคิดหาข้อมูลความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตของเรา ในส่วนนี้คุณต้องตอบว่าคุณจะต้องรู้อะไรบ้าง และคุณต้องรีบหาข้อมูลมากแค่ไหน
#3 การเชื่อมโยง การเชื่อมโยงข้อมูลหมายความว่าเราต้องมีข้อมูลให้เชื่อมโยงก่อน เพราะฉะนั้นหากคุณรู้สึกลังเล ตัดสินใจไม่ถูก ส่วนมากจะเป็นเพราะว่าข้อ 2 ในการหาข้อมูลยังทำได้ไม่ดีพอ หากคุณไม่ได้รีบตัดสินใจอะไรผมก็แนะนำให้ค่อยๆ คิดค่อยๆหาข้อมูล ก่อนที่จะเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลนะครับ ให้คุณนำเป้าหมายในข้อ 1 มาเป็นปัจจัยหลัก แล้วค่อยนำข้อมูลต่างๆมาเชื่อมโยง
ในกรณีที่คุณต้องทำการตัดสินใจ ให้คำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆและความสำคัญของข้อจำกัดต่างๆในแต่ละกรณีด้วย
#4 คิดวิเคราะห์ หากในส่วนที่แล้วเป็นแค่การเชื่อมโยงข้อมูลในส่วนนี้ก็คือการคิดวิเคราะห์ว่าหากเราทำแบบนี้จะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นแบบไหน และมีข้อเสียอะไรหรือเปล่า หากคุณทำงานกับเครื่องจักรและสิ่งไม่มีชีวิต ในส่วนนี้ก็คิดได้ง่าย เราอยากขับรถทางไกล เราก็ต้องเติมน้ำก่อนขับรถให้เพียงพอ หรือจะเผื่อเวลาไปเติมน้ำมันระหว่างทาง แต่ในกรณีที่คุณทำงานกับผู้คน ปัญหาส่วนมากจะมาจากความไม่เข้าใจมากกว่า ผมแนะนำให้ลองอ่านเรื่อง ความเห็นอกเห็นใจ อีกทีนะครับ
ยิ่งเรามีตัวเลือกเยอะ ยิ่งเราคิดวิเคราะห์เยอะ เราก็จะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ให้ลองพิจารณาดูว่าปัญหานี้คู่ควรกับเวลาที่เราต้องใช้ในการพิจารณามากแค่ไหน
#5 การเลือก ที่ผ่านมาเราได้ทำการตั้งเป้าหมาย เก็บข้อมูล วิเคราะห์ผลลัพธ์ และในส่วนนี้ก็อาจจะเป็นส่วนที่ง่ายที่สุดก็คือการเลือก ยิ่งคุณลงรายละเอียดกับการกระทำเยอะ คุณก็จะยิ่งปฏิบัติตามสิ่งที่คุณวิเคราะห์ไว้ได้ดีขึ้น เช่นหากเราจะเติมน้ำมัน เราก็ต้องเตรียมเงินไปด้วย หรือถ้าไม่อยากได้เงินทอนก็จะอาจจะต้องเอาบัตรเครดิต
ในกรณีที่เป็นการวิเคราะห์ตรรกะความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งที่สำคัญก็คือการหาข้อมูล แบบการสอบถามเพิ่มเติม และในส่วนการคิดวิเคราะห์ อาจจะเป็นการกระทำง่ายๆเช่น ไม่ต้องไปรับฟังความคิดผู้อื่นตั้งแต่แรก ยอมทำตามเพื่อให้ปัญหาจบเร็วๆ หรือใช้ความพยายามเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดผู้อื่น ความท้าทายของการเข้าสังคมก็คือเรามีปัจจัยต่างๆเยอะและถ้าเราไม่เข้าใจอีกฝ่ายจริงๆเราก็จะไม่สามารถคาดเดาผลลัพธ์ของการกระทำและคำพูดได้
สำหรับคนที่ติดขัดเรื่อง ตรรกะความคิดเห็นในสังคม หนึ่งบทความที่ผมแนะนำให้อ่านคือเรื่อง การเป็นผู้ฟังที่ดี ที่จะสอนให้เรารับฟังเพื่อเก็บข้อมูลความคิดเห็นคนอื่นได้มากขึ้น
ผมคิดว่า 5 ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างเรียบง่ายและสามารถทำได้จริง แต่ก็มีบางกรณีที่่บางคนไม่สามารถทำตามได้ ส่วนมากก็จะมาจาก ‘ข้อจำกัดอื่นๆ’ มากกว่า เช่นเป็นคนคิดเล็กคิดน้อย ไม่กล้าตัดสินใจ หรือ กลัวความล้มเหลวไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ศึกษาสองบทความนี้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาข้อจำกัดต่างๆของคุณ
ความกลัวคืออะไร? เกิดจากอะไร? วิธีเอาชนะความกลัวมีอะไรบ้าง?
การเป็นคนคิดมาก คิดเล็กคิดน้อย แก้ไขยังไงได้บ้าง?
สุดท้ายนี้ ‘การคิดแบบมีวิจารณญาณ’ ก็เป็นทักษะอย่างหนึ่ง และทักษะทุกอย่างก็สามารถฝึกฝนกันได้ คุณอาจจะไม่ได้วิ่งเร็วเหมือนนักกีฬาโอลิมปิก แต่ถ้าวิ่งทุกวัน ในสไตล์ของตัวเองที่สวนแถวบ้าน คุณก็จะวิ่งได้เร็วขึ้น
ขอให้ทุกคน ‘มีความสุขกับตรรกะ’ นะครับ
ลองดูบทความอื่นๆของผมได้นะครับ
เราจะรู้ได้ยังไง ว่าเราเป็นคนดีไหม – ‘คนดี’ คืออะไรกันแน่
การเรียนรู้ด้วยตนเอง คืออะไร [วิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง]
ความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน สร้างได้ยังไง Work-Life Balance
บทความล่าสุด
การจัดโต๊ะคอมให้สวยถูกใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานครบครัน...
ในมุมมองหนึ่ง ‘ลูกคนกลาง’ ดูเหมือนจะต้องแบกรับภาระทางใจอันหนักอึ้ง...