ทำไมนอนแล้วถึงไม่ฝัน? หรือแค่จำฝันตัวเองไม่ได้?

ทำไมนอนแล้วถึงไม่ฝัน

การนอนแล้วฝันอาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนชอบ

เพราะนอกจากบางทีอาจจะได้เลขเด็ดแล้ว ยังทำให้เรามีเรื่องไปคุยกับเพื่อนหรือคนรอบข้างอีกด้วย

ตามสถิติแล้ว คนปกติควรจะ ‘ฝัน’ อย่างน้อย 7 ครั้งต่อ 1 คืน แต่หลายคน (รวมถึงผมด้วย) กลับรู้สึกว่าตัวเองฝันน้อยเหลือเกิน ไม่รู้เพราะว่าเรามีอายุมากขึ้นด้วยหรือเปล่า

ถ้าอยู่ดีๆคุณรู้สึกว่าช่วงนี้นอนแล้วไม่ค่อยฝันเลย ก็ไม่ต้องกังวลไปว่าจินตนาการของเราน้อยลงหรือเปล่า วันนี้ผมจะมาลองอธิบายให้ฟังครับว่า ทำไมบางคนนอนแล้วไม่ฝัน แล้วการไม่ฝันมันดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ดีเราจะแก้ยังไง

ทำไมนอนแล้วถึงไม่ฝัน

อาการนอนแล้วไม่ฝันเกิดได้จากสองสาเหตุ สาเหตุแรกคือแค่จำฝันตัวเองไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาอะไรที่น่าเป็นห่วงนัก ส่วนอีกสาเหตุมาจากที่สุขภาพการนอนของคุณไม่ดี โดยเฉพาะสุขภาพของ REM Sleep ซึ่งเป็นช่วงการนอนที่จะทำให้คุณฝัน

ช่วงการนอน REM Sleep อาจถูกรบกวนได้ถ้าสุขภาพร่างกายคุณไม่แข็งแรง หรือมีปัจจัยภายนอกมารบกวนการนอนของคุณ

อาการนอนแล้วไม่ฝัน ส่วนมากไม่ใช่ปัญหาร้ายแรงอย่างที่คุณคิด แต่ก็มีบางกรณีที่อาจเป็นสัญญาณของปัญหาระยะยาวแบบที่คุณต้องมาตามแก้ภายหลัง แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าการนอนไม่ฝันของเราเป็นปัญหาชนิดไหน?

คำตอบก็คือเราควรดูอาการอื่นๆของเราด้วย และในวันนี้ผมจะขออธิบายวิธีวินิจฉัยสุขภาพการนอน และปัญหาต่างๆที่อาจจะทำให้สุขภาพการนอนของคุณแย่กว่าที่ควรเป็นนะครับ

ทำไมถึงจำฝันตัวเองไม่ได้ และมันไม่ดีจริงหรือเปล่านะ

โดยปกติแล้ว คนส่วนมากก็จำความฝันตัวเองไม่ค่อยได้หรอกครับ บางคนตื่นมาแป๊บเดียวก็ลืมแล้วว่าฝันเรื่องอะไร 

ในเชิงวิทยาศาสตร์ สัญญาณกระแสไฟฟ้าและเคมีในสมองเราที่ทำให้เราฝันจะจางลงเวลาที่เราตื่น เหมือนกับหมอกตอนเช้าที่ระเหยไปง่ายๆครับ แปลว่าช่วงที่เรารู้สึกงัวเงียตอนเช้าคือช่วงที่สมองกำลังประมวลผลความฝันอยู่นั่นเอง 

และในช่วงที่สมองคุณกำลังประมวลความฝันในขณะงัวเงียอยู่นั้น ถ้าคุณใช้นาฬิกาปลุกกระตุ้นให้ตัวเองตื่นขึ้นมา ความสามารถในการ ‘จดจำความฝัน’ ของคุณก็อาจจะน้อยลง การรบกวนแบบนี้สามารถมาจากอย่างอื่นด้วยก็ได้ เช่นการมีคนมาปลุกตอนเช้าเป็นต้น

ส่วนความฝันที่เราจำได้ บางคนอาจจะจำได้นานไปหลายสิบปีเลย ยิ่งเราเล่าให้คนอื่นฟังยิ่งทำให้เราจำได้ง่ายมากขึ้น แต่โดยรวมแล้ว ความฝันที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่สุดโต่งเช่นความกลัวจะเป็นสิ่งที่เราจำได้ง่ายมากกว่า ยิ่งเป็นฝันร้ายยิ่งจำได้ง่าย

ถ้าคุณคิดว่าคุณฝันแต่ไม่สามารถจำความฝันตัวเองได้ ให้ลองพยายาม ‘จดความฝัน’ ตัวเองทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมางัวเงียตอนกลางคืนหรือตอนเช้านะครับ หรือไม่ก็พยายามเพิ่มจำนวนครั้งที่คุณฝันด้วยการนอนให้มากขึ้นเป็นต้น

ไม่ว่าเหตุผลคืออะไรก็ตาม มันก็ยากที่จะวินิจฉัยสาเหตุของการที่คุณไม่สามารถจำความฝันตัวเองได้ แต่นักวิจัยส่วนมากให้เหตุผลว่าความฝันและความสามารถในการจำความฝันตัวเอง เกี่ยวข้องกับสุขภาพการนอนของคุณ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า REM Sleep

REM Sleep คืออะไร และทำไมเราถึงไม่ฝัน

อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจก็คือ สมองของเราจะทำงานเสมอ…แม้กระทั่งตอนนอน แต่สมองเราจะทำงานได้หลายขั้นตอน ซึ่งในขั้นตอนนั้นก็คือการ REM Sleep (อ่านว่า เรม-สลีป)

REM หรือ Rapid Eye Movement Sleep (การนอนที่ดวงตาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว) คือช่วงหนึ่งในการนอนที่สมองของคุณจะทำงานมากกว่าเวลานอนช่วงอื่น แล้วก็เป็นช่วงการนอนที่ทำให้คุณฝันด้วย

เด็กทารกอาจจะใช้เวลา 50 % ของการนอนอยู่ในช่วง REM Sleep แต่สำหรับผู้ใหญ่จะใช้เวลาแค่ 20% เท่านั้น หมายความว่าถ้าเรานอน 8 ชั่วโมง เราจะนอนแบบ REM Sleep แค่หนึ่งชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

ไม่เพียงแค่เพราะว่า REM Sleep ของเราน้อยกว่าตอนเป็นเด็ก แต่มันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่สามารถรบกวนการนอนของเราได้ และถ้าการนอนของเราถูกรบกวนตอนที่เราเข้าสู่โหมด REM Sleep ช่วงความฝันของเราก็อาจจะถูกตัดให้สั้นลงหรือหายไปเลยก็ได้

สิ่งที่รบกวนไม่ให้สุขภาพการนอนแบบ REM Sleep ของเราดีเหมือนคนอื่น มีได้หลายสาเหตุเลยครับ เช่นการดื่มแอลกอฮอล์ หรือการที่โทรศัพท์ส่งเสียงรบกวนตอนกลางคืนเป็นต้น

ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณนอนหลับและมีเวลาพักผ่อนเยอะ ตื่นนอนทุกวันแล้วรู้สึกสดชื่น แต่ก็ยังจำฝันตัวเองไม่ได้ ผมคิดว่าคงไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะนั่นแปลว่าคุณมีช่วงการหลับลึก (deep sleep) เยอะ หรือแปลว่าพักผ่อนเพียงพอนั้นเอง

แต่ถ้าคุณจำฝันตัวเองไม่ได้และตื่นมาไม่สดชื่น งัวเงียหรือเบลอตลอด สาเหตุอาจจะมาจากการที่คุณนอนพักผ่อนได้ไม่ดีพอ (หมายความว่ามีอะไรมารบกวนการนอนของคุณ)

ขอย้ำอีกครั้งนะครับ การแก้ปัญหาอาจจะไม่ได้มาจากการนอนที่มากขึ้น แต่เป็นการนอนที่ ‘ดีขึ้น’

วิธีนอนให้ดีขึ้น (สุขภาพของการนอน)

หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าถ้าอยากจะนอนให้ดีขึ้น ก็ควรจะนอนให้ตรงเวลา ออกกำลังกายเรื่อยๆ หรือเลี่ยงไม่ดูหน้าจอมือถือก่อนนอน แต่ทำไมเราถึงต้องทำอย่างนั้นกันนะ?

สาเหตุหลักก็เพราะสิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อ ‘การทำงานของสมอง’ แล้วก็ ‘ฮอร์โมนในร่างกาย’ครับ

หากสมองแล้วทำงานมากๆก่อนนอน เช่นดูมือถือ หรือคิดเรื่องอะไรที่มันเครียดๆ มันก็ยากที่จะทำให้สมองเราเข้าสู่โหมดการพักผ่อนได้ ซึ่งก็เท่ากับว่าช่วงเวลาที่สมองเราจะเข้าสู่ REM Sleep นั้นมีน้อยลง

การออกกำลังกายไม่เพียงทำให้ร่างกายรู้สึกว่าต้องพักผ่อนตอนกลางคืน (เพราะร่ายกายรู้สึกเหนื่อยและต้องการฟื้นฟูพลังงาน) แต่ยังเป็นการทำให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะสร้างฮอร์โมนที่เหมาะกับการพักผ่อนจากการนอนด้วย (ฮอร์โมนที่ทำให้การหลับลึกดีขึ้น)

ยาที่ช่วยในการนอนบางอย่าง เช่นเมลาโทนิน (เป็นยาปรับฮอร์โมน ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง) ก็สามารถทำให้สุขภาพการนอนดีขึ้น และทำให้เราอยู่ในช่วง REM Sleep ได้นานขึ้น

อย่างไรก็ตามในประเทศไทย เมลาโทนินเป็นยาที่ต้องให้แพทย์ออกให้และมีราคาแพง หากเป็นไปได้ก็พยายามอย่าใช้เยอะละกันครับ

อีกสิ่งหนึ่งที่คนชอบลืมคิดกันก็คืออาหารที่เรากิน หากเรากินอาหารดึกเกินไป หรือกินอาหารที่มันย่อยยาก ร่างกายของเราก็จะต้องทำงานนานมากขึ้น บางทีอาจจะทำงานย่อยอาหารนานไปถึงตอนกลางคืน และอาจจะต้องทำงานในระหว่างที่เรานอนด้วย ซึ่งก็จะเป็นการรบกวนสุขภาพการนอนของเราอย่างหนึ่ง ข้อนี้คงไม่ใช่ปัญหาเท่าไรถ้าคุณยังมีอายุน้อยอยู่

สำหรับคนที่นอนยาก การนอนก็มี ‘เทคนิค’ นะครับ ยกตัวอย่างเช่น วิธีการนอนทหารหรือวิธีการนอนหลับเร็ว หากสนใจสามารถอ่านได้ที่บทความนี้ วิธีนอนหลับเร็วใน 10, 60, หรือ 120 วินาที!

สุดท้ายแล้ว การออกกำลังกาย และการปรับอาหารที่เรากิน ก็เป็นการช่วยให้เราลดไขมันของเราได้ด้วย การลดไขมันช่วยลดปัญหาในการนอนได้หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นปัญหาในการหายใจเวลานอน หรือปัญหาความรู้สึกกระวนกระวายก่อนนอน สังเกตุว่าผมใช้คำว่า ‘ลดไขมัน’ ไม่ใช่ลดน้ำหนักนะครับ ผมเขียนบทความเรื่องอาหารที่ช่วยเรื่องการนอนไว้ แนะนำให้ทุกคนลองศึกษากัน อาหารช่วยให้นอนหลับสบาย – อาหารอะไรมีเมลาโทนินบ้าง

สุขภาพการนอนไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปอาจจะสนใจมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ลองคิดดูครับวันหนึ่งคุณต้องนอนตั้ง 6 ถึง 8 ชั่วโมง นับว่าเป็นเกือบ 30% ของชีวิตคุณเลยนะ 

เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ดูแล 30% ของชีวิตคุณแล้ว ในระยะยาวอาจจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินจะแก้

บทความล่าสุด