ความสุขคืออะไร? วิธีหาความสุขให้ตัวเอง

ความสุขคืออะไร

ทำไมถึงไม่มีใครสอนเรื่องความสุขในโรงเรียนและมหาลัยนะ

เราใช้เวลาส่วนมากเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการเข้าสังคม ต้องพูดยังไงคนอื่นถึงจะชอบ ต้องทำยังไงถึงจะเป็นการเคารพผู้ใหญ่ แต่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘จะเข้าสังคมไปเพื่ออะไร’ หากตัวเราเองไม่มีความสุข

หากเราเข้าโซเชียล เราจะเห็นว่าคนอื่นโพสรูปไปเที่ยส โพสรูปครอบครัว เหมือนกับว่าสังคมรอบตัวพยายามจะบังคับนิยามความสุขให้กับตัวเรา ยิ่งเราเข้าสังคมและเล่นโซเชียลเยอะเรายิ่งถูก ‘สั่งสอน’ ให้เปลี่ยนมุมมองให้เข้ากับคนอื่น

ไม่ว่าสังคมจะว่ายังไง พอผ่านไปนานๆ เราก็จะเริ่มเข้าใจว่า ‘ความสุขของแต่ละคน’ ไม่เหมือนกัน และไม่มีสูตรสำเร็จอะไรที่จะใช้ได้เหมือนกันทุกคน

ผมคงไม่สามารถบอกได้หรอกว่าความสุขของแต่ละคนคืออะไร แต่สิ่งที่ผมสามารถแนะนำได้ก็คือ ‘เราจะทำยังไงเพื่อหานิยามความสุขในแบบของตัวเอง’ ได้โดยที่ไม่ต้องถูกกดดันจากสังคม

เริ่มต้นหาความสุขให้ตัวเอง

ความสุขเป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตและเป็นเป้าหมายที่ทุกคนควรจะมี แต่ความสุขไม่ใช่อะไรที่เราได้มาทีเดียวและจะสามารถเก็บไว้ได้ตลอดไป ความสุขคือสิ่งที่เราต้องพยายามเก็บรักษาและเติมเต็มเสมอ โดยที่เราเริ่มได้จากการดูแลร่างกายสุขภาพตัวเอง ปรับมุมมองในชีวิตใหม่ และ หาวิธีใส่ใจกับความทุกข์ให้น้อยลง

หาความสุขให้ตัวเองต้องทำยังไง? ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ร้อยไปมนุษย์ก็ยังต้องตั้งคำถามนี้เสมอ ความสุขคือสิ่งสำคัญเหนืออย่างอื่นไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมเรายังต้องมีคำถามพวกนี้อีก

  • มีเงินมีทุกอย่าง แต่ไม่มีความสุขเลย
  • เข้าสังคมพบเพื่อนบ่อย แต่ไม่มีความสุขกับตัวเอง
  • สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่รู้สึกเหงาและซึมเศร้า

ก่อนที่เราจะเริ่มแก้ปัญหาสุดหนักใจอย่างความสุขของมนุษยชาติ เราต้องเข้าใจพื้นฐานกันก่อนนะครับ

บทความนี้เป็นข้อมูลที่ผมเก็บเกี่ยวมาจากประสบการณ์และการอ่านหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตวิทยา ชีววิทยา และศาสนา ผมจะพยายามสรุปข้อมูลให้ละเอียดและเข้าใจง่ายที่สุดนะครับ

ความสุขคืออะไร

หากผมให้คุณกับเพื่อบ้านของคุณนิยาม ‘ความหมายของความสุข’ ออกมา คำตอบของทั้งสองคนก็อาจจะไม่เหมือนกันซักเท่าไร

แต่เพราะอะไร? ความสุขคืออะไรกันแน่? มันเป็นแค่ความรู้สึก เป็นความคิดอย่างหนึ่ง หรือ เป็นอะไรที่มากกว่านั้นกันนะ

คำถามง่ายๆว่าความสุขคืออะไรกลับกลายเป็นความยุ่งยากเพราะทุกคนคิดไม่เหมือนกัน แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคำถามนี้จะไม่มีคำตอบนะครับ ก่อนที่เราจะไปหาความหมายของความสุข เราต้องคิดให้ลึกอีกหนึ่งขึ้นก็คือ ‘เราจะนิยามความสุขว่ายังไง’

‘ความสุขนิรันดร์’ มีอยู่จริงหรือเปล่า

ไม่ว่ายังไงเราก็ไม่สามารถมีความสุขได้ตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 365 วันต่อปี

ประโยคข้างบนไม่ได้แปลว่าโลกเราโหดร้ายหรืออะไรนะครับ มันเป็นแค่การทำงานของร่างกายมนุษย์ 

ต่อให้คนที่มีความสุขที่สุดในโลกก็ต้องมีโมเม้นท์ที่ไม่มีความสุขบ้าง ความเศร้าเป็นอารมณ์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและเราก็ไม่อาจจะปิดอารมณ์นี้ได้ ต่อให้เราสามารถปิดความเศร้าได้ตลอดไป เราก็ไม่ควรทำ เราเรียนรู้ความเศร้าเสียใจเพื่อที่จะพัฒนาชีวิตและทำความเข้าใจคุณค่าของความสุขที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นบทความนี้ไม่ใช่ ‘วิธีมีความสุขตลอดเวลาชั่วชีวิต แต่เป็นการหาความสุขให้ตัวเองบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้’

‘ความสุขนิรันดร์’ เป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถผลักดันให้ชีวิตของเราเข้าใกล้ความสุขมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ครับ

แล้วนิยามความสุขของฉันคืออะไรกันนะ?

ความสุขกับความทุกข์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆตามช่วงชีวิตของเรา ตอนเด็กเราอาจจะคิดว่าการได้นอนดึกดูทีวีเป็นความสุข ตอนทำงานเราอาจจะคิดว่าการนอนพักผ่อนอยู่บ้านเป็นความสุข 

ถ้าเราถาม wikipedia ความสุขก็คือ “ความสบายกายสบายใจ…”

นิยามความสุข ความสุขคืออะไร

แต่ผมว่าคงไม่ค่อยมีใครพอใจกับคำตอบนี้มากหรอกครับ 

ถ้าผมถามหลานผมว่าความสุขคืออะไร หลานก็คงบอกว่า ‘ของเล่นกับของกิน’ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าหลานผมอายุน้อยยังคิดไม่ลึกพอหรืออะไรนะครับ ของพวกนี้ทำให้เค้ายิ้มและมีความสุขได้จริงๆ สิ่งที่ทำให้คนอื่นมีความสุขอาจจะไม่ได้ทำให้เรามีความสุข สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขเมื่อวานอาจจะไม่ได้ทำให้เรามีความสุขวันนี้ นิยามความสุขมันยากตรงนี้มันเปลี่ยนแปลงได้เสมอครับ

อย่างไรก็ตามทุกคนรู้ในใจอยู่แล้วว่าความสุขของตัวเองคืออะไร บางครั้งเราอาจจะยอมรับนิยามของตัวเองไม่ได้เพราะมันขัดกับ ‘ความต้องการทางสังคม’ หรือบางครั้งเราก็อาจจะยอมรับไม่ได้เพราะความสุขวันนี้มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราอยากได้นักหนาเมื่อหลายปีที่แล้ว

ความสุขระยะยาวและความสุขระยะสั้น

ข้อนี้ถือว่าเป็นหัวข้อใหญ่เลยครับ

คนส่วนมากใช้ชีวิตโดยรู้จักความสุขระยะยาวกับความสุขเลยด้วยซ้ำ ผมขอให้ตัวอย่างนะครับ

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบออกไปเที่ยว ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีเงินเท่าไหร่ก็ใช้ให้หมด หรือถ้าจะให้บอกอีกแบบก็คือมีความสุขกับสิ่งต่อหน้าโดยไม่วางแผนหรือสนใจเรื่องในอนาคตเลย คุณก็คงเข้าใจได้ใช่ไหมครับว่าในอีก 5 ปี 10 ปีผลของการมีความสุขตอนนี้จะเป็นยังไง 

ตัวอย่างข้างบนคือสิ่งที่เราเรียกว่า ความสุขระยะสั้น หรือการโฟกัสกับสิ่งต่อหน้าจนไม่คิดว่าชีวิตในอนาคตจะอยู่ได้ยังไง อย่างไรก็ตามมันก็มีอีกหนึ่งตัวอย่างซึ่งก็คือการที่เราโฟกัสเรื่องความสุขระยะยาวมากเกินไป

สมมุติว่าเราอยากเป็นคนที่มีความสุขเวลาเกษียณ เราเก็บเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เรามีจากการทำงาน ไม่ออกไปเที่ยว ไม่ใช้อะไรเกินจำเป็นเลยแม้แต่นิดเดียว อาจจะเสียสละเวลานอน การออกไปพูดคุยกับเพื่อน หรือแม้แต่เวลาให้ครอบครัว สุขภาพถอยแค่ไหนก็ไม่สนใจ เพื่อการสร้างอนาคตที่ดีของตัวเอง เราจะมีความสุขไหมครับ? 

ข้างบนก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการที่เราโฟกัสเรื่องความสุขระยะยาวมากเกินไป อาจจะเป็นตัวอย่างสุดโต่งมากไปหน่อยแต่ก็น่าจะเห็นภาพกันนะครับ ความสุขและยาวเป็นอะไรที่สมองเราบอกว่าเป็นเรื่องดี เราต้องอดทนเพื่ออนาคตเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เราอาจจะมีความสุขถ้าเป้าหมายและความเป็นจริง แต่ความสุขนี้มันน่าพึงพอใจแค่ไหนกัน หากเราเกิดอุบัติเหตุโดนรถชนเสียชีวิตไป เราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราเคยทำมาทั้งหมดหรือเปล่าหรือเปล่า

ความสุขตอนนี้กับความสุขในวันหน้า

เราไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตสุดโต่งเพื่อความสุขในระยะสั้นอย่างเดียว หรือเพื่อความสุขในระยะยาวอย่างเดียวเท่านั้น ชีวิตของเราควรจะปรับให้มัน balance ครับ

อย่างไรก็ตามคำตอบมันคงไม่ได้เรียกง่ายๆอย่างเช่น เราควรใช้เวลา 50% เพื่อความสุขระยะสั้น และเวลาอีก 50  % ที่เหลือควรจะใช้เพื่อความสุขและยาว ทุกคนมีจด balance ไม่เท่ากัน สิ่งที่เราต้องทำก็คือหา วิธีการใช้ชีวิตที่มันพอดีที่สุดสำหรับตัวเอง เราต้องหาว่าความสุขของเราคืออะไรและเราต้องใช้ชีวิตยังไงให้มีความสุขแบบนั้นได้ 

บางคนอาจจะบอกว่าความสุขไม่เกี่ยวกับปลายทางหรอกมันอยู่ที่การเดินทางเท่านั้น แต่สำหรับผมมันไม่จำเป็นต้องนิยามอะไรให้มันสุดโต่งขนาดนี้ ทุกอย่างมันมีความพอเพียง และเราสามารถทำ ‘ทุกอย่าง’ ได้พร้อมกัน

ทำไมความสุขถึงไม่ยืนยาว

ส่วนนี้ผมคิดว่าถ้าจะให้อธิบายเป็นคำพูดคงยาก แต่ถ้าจะให้อธิบายเป็นตัวอย่างจะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า

ลองคิดถึงสิ่งที่คุณทำแล้วมีความสุขด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการกินไอติม การอาบน้ำนานๆ การออกไปดื่มกับเพื่อน หรือการไปเที่ยวสวนสนุก

มันคงจะดีถ้าคุณสามารถทำสิ่งพวกนี้ตอนนี้ได้เลย… ถ้าทำแล้วชีวิตคุณจะมีความสุขใช่ไหมครับ

แต่ลองจินตนาการดูว่าคุณต้องทำสิ่งพวกนี้ทุกวัน ตลอดชีวิต ไปถึงวันที่คุณตาย

คุณคิดว่าคุณจะมีความสุขกับการทำซ้ำสิ่งเดิมๆพวกนี้ได้ถึง 10 ครั้งรึเปล่า แล้วถ้าเป็น 100 ครั้ง? 1000 ครั้ง?

ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตัวเลขของแต่ละคนคือเท่าไร แต่สักวันหนึ่งมันก็ต้องมีการเบื่อ หรือการอยากพักกันบ้าง แน่นอนว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สุดโต่ง แต่ยิ่งเราทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา ความชอบมีความสุขที่เราได้จากการทำอย่างนั้นๆมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย

ตอนเด็กเราอาจจะชอบกินของหวานแต่ไม่ชอบกินผัก แต่พอผ่านไปหลายสิบปีแล้วสิ่งพวกนี้มันก็อาจจะเปลี่ยนก็ได้ ความชอบและความสุขคือสิ่งที่พัฒนาอยู่เรื่อยๆเสมอ บางครั้งก็พัฒนาไปทางที่ดี บางครั้งก็ไม่ใช่

หลักการความสุข 5 อย่าง

วิธีที่ทำให้เรามีความสุขมีอยู่เป็นร้อยเป็นพัน แถมวิธีพวกนี้เปลี่ยนไปตามความชอบของเรา…ที่ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอีกด้วย อย่างไรก็ตามถ้าเรากลับมาดูพื้นฐานของการเป็นมนุษย์แล้ว เราจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยอยู่ 5 อย่างที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ 

  1. ความมั่นใจในตัวเองและการรักตัวเอง
  2. เป้าหมายและความหมายในชีวิต 
  3. พลังงานบวกและการมองโลกในแง่ดี 
  4. สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ 
  5. อิสระและความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง

ห้าอย่างนี้คือปัจจัยสำคัญในการสร้างความสุขให้ตัวเอง หากเราไม่รู้สึกว่าห้าอย่างนี้ถูกเติมเต็มเราก็ไม่สามารถมีความสุขกับอะไรเล็กๆน้อยๆในชีวิตได้ ยกตัวอย่างเช่นบางคนออกไปเที่ยวต่างประเทศแต่ก็รู้สึกไม่สนุกเลย เพราะจิตใจกังวลอยู่กับปัญหาภายใน

มันอาจจะยากที่จะเติมเต็มทุกอย่างในจิตใจพร้อมกันได้ แต่ถ้าคุณรู้ว่าคุณขาดปัจจัยไหนมากเป็นพิเศษ คุณก็จะรู้ว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่ควรทำต่อไปเพื่อให้ตัวเองมีความสุขคืออะไรแล้วใช่ไหมครับ ในกรณีนี้หากเราค้นพบว่าสิ่งเล็กๆน้อยๆมีความสุขระยะสั้นไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ เราก็ควรที่จะกลับมาดูพื้นฐาน 5 อย่างนี้กันอย่างจริงจัง

หลักการความสุข 5 อย่าง

โฟกัสกับสติและจิตใจ

ความสุขเริ่มจากมุมมองของคุณ 

หากเราสามารถอยู่เหนืออารมณ์ของตัวเองได้ ความสุขก็จะอยู่ในการควบคุมของเรามากขึ้น 

ความสุขของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งรอบข้างของเราอย่างเดียว ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาความสุขได้เขียนไว้ว่าความสุขเกิดจาก

  • 50% มาจากทางพันธุกรรม
  • 10% มาจากปัจจัยภายนอก
  • 40% มาจากสภาวะจิตใจของเรา

หากเรามองว่าพันธุกรรมและปัจจัยภายนอกเป็นอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ เราก็จะต้องโฟกัสกับ 40% ที่เหลือซึ่งก็คือสภาวะจิตใจของเราเอง สติ จิตใจ และสมองของเรา ยิ่งเราทำให้สภาวะจิตใจของเราน่าอยู่แค่ไหน เราสิ่งสามารถควบคุมความสุขของตัวเองได้มากขึ้นเท่านั้น หากใครสงสัยเรื่องการทำการรู้จักตัวเอง ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้นะครับ Mindfulness คืออะไร?

เริ่มรู้จักตัวเอง

‘ความสุขเริ่มจากใจของเรา’ และ ‘เราสามารถควบคุมความสุขของตัวเองได้’ เป็นอะไรที่เราได้ยินกันบ่อย แต่มันก็เป็นคำพูดที่ถูกต้องนะครับ ถึงแม้ว่าโลกปัจจุบันมีความยุ่งยากมากขึ้นและมีปัจจัยอะไรหลายอย่างให้เราต้องคิดถึง แต่สิ่งที่เราควบคุมได้ก็มีเยอะมาก และ สิ่งที่เราควบคุมได้นี้รวมถึงวิธีที่เราจะจัดการกับปัจจัยภายนอกอื่นๆด้วย

การรู้จักตัวเองสำคัญยังไงกันนะ? หากเรารู้ว่าตัวเราชอบไม่ชอบหรือมีปฏิกิริยาตอบโต้สถานการณ์ภายนอกยังไงบ้าง เราก็สามารถควบคุมหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตตัวเองได้ เราไม่สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ 100% แต่เราสามารถควบคุมวิธีที่เราตอบโต้ปัจจัยอื่นๆได้นั่นเอง การรู้จักตัวเองคือจุดเริ่มต้นของความสุข

คนที่ไม่รู้จักตัวเองเวลามีปัญหาก็จะรู้สึกหงุดหงิดหรือติดอยู่กับที่ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา แต่คนที่รู้จักตัวเองก็จะถามตัวเองเรื่อยๆเพื่อที่จะพยายามเข้าใจตัวเองเพื่อแก้ปัญหา บางทีเราอาจจะไม่รู้มาก่อนว่าคนอื่นไม่อยากคุยกับเราก็ไ้ด คนที่รู้จักตัวเองจะสังเกตุสิ่งรอบตัวเสมอและสามารถยอมรับข้อเสียของตัวเองได้ ว่าบางทีเราก็อาจจะพูดมากเกินไป บางทีเราก็อาจจะรับฟังคนอื่นไม่มากพอ หรือบางทีเราก็อาจจะไม่มีความสุขกับปัจจุบันก็ได้ 

ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือคนที่รู้จักตัวเองจะสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ (หรือถ้าแก้ไม่ได้ก็จะรู้ว่าเมื่อไรต้องขอความช่วยเหลือ) และหากเรารู้ตัวเองแล้วอย่างอื่นก็ไม่สำคัญเท่าไรหรอก

รู้จัก ‘อารมณ์ความรู้สึก’ ของตัวเอง

หากคุณเป็นคนที่อยู่ดีๆก็รู้สึกโมโหขึ้นมา หรือรู้สึกเศร้าโดยไม่มีเหตุผล คุณก็อาจจะไม่ได้ใส่ใจกับความรู้สึกของตัวเองมากเท่าไร หรือบางคนก็อาจจะรู้สึกเศร้าโดยไม่รู้ตัว พอตัดสินใจอะไรไปแล้วก็เลยต้องมาเสียใจภายหลังเรื่อยๆ คนที่สามารถเข้าใจและรับรู้อารมร์ตัวเองได้จะสัมผัสถึงอารมณ์เล็กน้อยของตัวเองได้ และ เข้าใจว่าอารมณ์พวกนี้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม ประสิทธิภาพการใช้ชีวิต และการตัดสินใจของตัวเองยังไง

‘มนุษย์ไม่ใช่นักโทษแห่งชะตากรรม แต่เพียงนักโทษแห่งความคิดอ่านของพวกเขา’ เป็นคำคมของประธานาธิบดีสหรัฐ แฟรงกลิน โรสเวลต์ ทุกคนมีอิสระในการเลือกทำหรือเลือกคิด แต่อารมณ์โมโห หงุดหงิดกลับเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเราเสมอ

ความจริงก็คือเราต้องรับรู้อารมร์ของตัวเองเรื่อยๆหากเราอยากจะมีความสุข ไม่ได้หมายความว่าเราสามารถควบคุมความสุขของตัวเองได้ทุกเวลา แต่อย่างน้อยเราก็สามารถควบคุม 40% ของสิ่งที่ให้ความสุขกับเราได้ 

ยอมรับว่าเราต้อง ‘คิดบวก’

คำแนะนำให้คิดบวกเป็นสิ่งที่ผมต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมมากเวลามีคนมาขอคำปรึกษาเรื่องต่างๆ คนที่เศร้าหรือรู้สึกติดอยู่กับที่บางทีเราก็ไม่สามารถแนะนำให้เค้า ‘คิดบวก’ ได้ทันที

หากคุณเพิ่งเสียสิ่งที่คุณรักไป แล้วมีคนมาบอกให้คุณ ‘คิดบวก’ หรือ ‘มองโลกในแง่ดี’ คุณจะคิดยังไงกัน?

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมามองโลกในแง่ร้าย และ สภาวะจิตใจที่ ‘มองโลกในแง่ร้าย’ ไม่ใช่สิ่งที่อยู่กับใครได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย

เราสามารถเป็นคนที่มีความสุขกับเรื่องเล็กน้อยในชีวิตได้ สามารถหัวเราะไปกับใครก็ได้ และมองโลกในแง่ดีเสมอ

หากเราเชื่อว่าการมองโลกในแง่ดีคือสภาวะของจิตใจ เราก็สามารถควบคุมความสุขของตัวเองได้เช่นกัน

อย่าใส่ใจกับเรื่องเล็กน้อยในชีวิต

ถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย บางครั้งเราก็อาจจะเก็บเรื่องไม่เป็นเรื่องมารบกวนจิตใจเรา 

‘คนที่มองโลกในแง่ร้าย’ จะชอบจดจ่อกับข้อเสียของแต่ละอย่าง ซึ่งก็เท่ากับว่าโอกาสที่จิตใจจะถูกรบกวนการสิ่งพวกนี้ก็มีเยอะขึ้น หลายงานวิจัยได้ระบุไว้ว่าความเครียดกับการมองโลกในแง่ร้ายเป็นสิ่งเกี่ยวข้องกัน

สำหรับผมแล้วการมองโลกในแง่ร้ายก็ไมใช่สิ่งที่แย่ตลอดนะครับ หากเราเข้าใจว่าสิ่งนี้อาจจะมารบกวนเราได้ เราก็สามารถหาวิธีป้องกันล่วงหน้าได้เช่นกัน โดยที่ข้อแม้ก็คือ คุณต้องไม่รบกวนคนรอบข้างของคุณ และ คุณต้องโฟกัสที่การแก้ปัญหา (ที่อาจจะไม่มีจริง) มากกว่าการคิดกังวล

ไม่ว่ายังไงก็ตาม การที่คุณเลือกที่จะให้สิ่งอื่นมารบกวนจิตใจของคุณก็เป็นการตัดสินใจของคุณเอง บางคนอาจจะมองโลกในแง่ร้ายโดยไม่รู้ตัวแต่มันก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะปรับมุมมองให้มันดีขึ่้นไม่ได้

คนที่มั่นใจในตัวเองก็คงไม่ใส่ใจกับสิ่งที่ไม่สำคัญหรอก

‘รักตัวเอง’ คือคำแนะนำที่ดีที่สุดเลยครับ แต่มันหมายความว่ายังไง

หากเราไม่รักตัวเองและไม่ยอมรับที่สิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ เราก็ไม่สามารถมีความสุขได้ 

ความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสุข มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีชีวิตอยู่โดนไม่ต้องเจอปัญหาหรือมีความเครียดอะไรเลย ไม่ว่าเราพยายามแค่ไหม เราก็มีภาระอยู่เสมอ แต่หากเราอยากจะมีความสุข เราก็ต้องสามารถอยู่กับภาระและความเศร้าให้ได้อย่างมีความมั่นใจ

ยกตัวอย่างเช่น หากแต่ละวันของเรามีแต่ข่าวที่ไม่ดี หรือมีแต่โฆษณาชวนเชื่อ มันก็เป็นไปได้ง่ายที่เราจะรู้สึกอึดอัดเพราะสิ่งไร้สาระพวกนี้มันเข้ามาในชีวิตเรามากเกินไป เราจำเป็นต้องใช้สติในการใช้ชีวิตและอย่าให้สิ่งพวกนี้มารบกวนจิตใจของเรามาเกินความจำเป็น ซึ่งเราสามารถเริ่มได้จากความมั่นใจในตัวเอง

และที่สำคัญก็คือ ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ เป็นสิ่งที่สร้างกันได้ เราอาจจะใช้วิธีพื้นฐานก็คือการฝึกและการพยายามทำซ้ำไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะเก่งขึ้น หรือจะใช้วิธีทางจิตวิทยาต่างๆเช่นการรักษาบำบัดก็ได้ 

วัตถุนิยมและของนอกกาย

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ปรับตัวเก่ง ต่อให้สถานการณ์แย่แค่ไหนเราก็สามารถ ‘ทำใจ’ จนอยู่ได้อยู่ดี ซึ่งความสามารถในการปรับตัวนี้มีทั้งดีและไม่ดีครับ

  • ข้อดีก็คือต่อให้เรารู้สึกแย่แค่ไหน ซักวันเราก็จะปรับตัวได้และรู้สึกดีขึ้น
  • ข้อเสียก็คือการสามารถทำอะไรเกินเลยหรือไร้สาระ แต่ก็ยังสามารถรู้สึกว่ามันเป็นเรื่อง ‘ธรรมดา’ ได้ในระยะยาว

‘สามล้อถูกหวย’ คือคำอธิบายของคนที่อยู่ดีๆก็โชคดีขึ้นมาจนทำตัวไม่ถูกกับ ‘สถานะชีวิตใหม่’ ที่มันอาจจะดีขึ้นจนไม่เหมือนเดิม บางคนก็อาจจะใช้เงินมากเกินไปจนกลับมาแย่เหมือนเดิมภายในไม่กี่เดือนก็ได้ ยิ่งเราโชคดีมากขึ้นแค่ไหน โอกาสที่เราจะเจอปัญหาวัตถุนิยมก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น

  • ซื้อของโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง
  • รู้สึกดีชั่วคราว เพราะได้ใช้เงิน
  • ความสุขระยะสั้นมีอายุจำกัด อยู่กับเราได้ไม่นานก็จะจางหายไป
  • หากเรารู้สึกว่าความสุขระยะสั้นกำลังหมดไป เราก็ต้องรีบใช้เงินเพื่อซื้อความสุขนี้กลับคืนมา
  • กลายเป็นวงจรการใช้เงินที่ไม่มีวันพอและไม่มีวันจบ

ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องทำตัวจนเสมอ แต่เราต้องรับรู้ว่าความสามารถและฐานะจริงๆของเราเป็นยังไง และทำความเข้าใจว่าเราจะอยู่เหนือ ‘ความอยาก’ ของตัวเองได้ยังไงบ้าง สุดท้ายนี้คุณเป็นคนที่น่าจะรู้ดีที่สุดว่าคุณมีเงินเท่าไร ควรใช้ยังไงบ้าง และใช้เท่าไรถึงจะเพียงพอ (หรือหากไม่รู้ก็ให้ลองถามสรรพากรดู อาจจะรู้รายได้ดีกว่าคุณอีก 555)

ความสัมพันธ์ที่สร้างความสุข

ความสัมพันธ์ที่สร้างความสุข

ไม่ว่าคุณจะชอบเข้าสังคมมากแค่ไหน หรือ ไม่ว่าคุณจะมีเพื่อนไม่กี่คนก็ตาม มนุษย์ก็เป็นสัตว์สังคมและไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีประติสัมพันธ์กับใครเลย 

ต่อให้คุณเป็น introvert หรือ extrovert การอยู่กับครอบครัวและคนที่คุณรักก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข โดยรวมแล้วการอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่หวังดีกับเรา ย่อมทำให้เรามีความสุขมากขึ้น และยิ่งความสัมพันธ์นี้ดีแค่ไหน ความสุขก็จะมากขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้นเราถึงต้องมาดูเรื่องความสัมพันธ์กับความสุขกันครับ

อยู่กับคนที่มีความสุข

โลกเรามีสิ่งที่ไม่ดีมากมาย มีหลายเรื่องที่ทำให้เรารู้สึกแย่ เพราะฉะนั้นการที่เราจะพบว่าสภาพแวดล้อมใกล้ตัวเราไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่เกิดได้ง่าย ยิ่งเราอยู่กับคนที่ไม่ดีมากแค่ไหน เราก็ยิ่งกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้นเท่านั้น 

แต่มันก็หมายความว่า ยิ่งเราอยู่กับคนที่มองโลกในแง่ดีแค่ไหน เราก็จะยิ่งมองโลกในแง่ดีมากขึ้นเช่นกัน แต่เราจะทำได้ยังไง สภาพแวดล้อมของเราจะเปลี่ยนได้ยังไงกันนะ 

  • ใช้เวลากับคนที่คุณรักในสถานที่ที่คุณอยากอยู่ – ยังไงการอยู่กับคนที่คุณรักหรืออยู่กับครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือคุณจะอยู่กับคนเหล่ายังไง บางคนอาจจะมีความสุขถ้าได้อยู่ในสถานที่เล็กๆคนไม่เยอะ แต่บางคนอาจจะมีความสุขกับสถานที่คนเยอะๆกว้างๆ เราต้องหาบาลานซ์ของตัวเองให้เจอครับ
  • คนที่คิดแง่ลบ – ลดเวลาที่คุณใช้กับคนที่คิดในแง่ลบ หากคุณรู้สึกว่าการอยู่กับใครทำให้คุณไม่มีความสุขหรือทำให้คุณรู้สึกแย่ลง คุณก็ควรลดเวลาที่ใช้กับคนๆนั้น คุณมีสิทธิ์ที่จะใช้เวลาในชีวิตตัวเองเพื่อความสุขของตัวเอง และ การใช้เวลาที่ดีก็คือการใช้เวลากับคนที่ทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น

เพื่อน แฟน และ ครอบครัว

ส่วนนี้เป็นเรื่องที่คนน่าจะเข้าใจกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคงใช้เวลาอธิบายไม่นานครับ 

บางคนอาจจะมีเวลาที่อยากอยู่คนเดียวทำอะไรคนเดียวบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่การแบ่งเวลาให้กับคนสำคัญในชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างความสุข 

อย่างไรก็ความ ความชอบและความคิดที่แตกต่างก็เป็นตัวทำให้การเข้าสังคมของคนสองคนยากขึ้น หากเพื่อนหรือแฟนของเราชอบไปเที่ยวร้านนั่งดื่มแต่เราชอบอยู่เงียบๆที่บ้านเล่นเกม เราจะหาวิธีเข้าหาเพื่อนหรือแฟนได้อย่างไรดี

คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับความคิดและความชอบของแต่ละคน อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องไม่สับสนระหว่าง สิ่งดีๆ (เพื่อนหรือแฟนของเรา) กับสิ่งที่อาจจะทำให้เรารู้สึกไม่ดี (สภาพแวดล้อมภายนอก)

คนแปลกหน้า

สิ่งเล็กๆน้อยๆอาจจะสร้างความสุขให้เราได้มากกว่าที่คิด การที่เราได้รับความช่วยเหลือเล็กน้อยจากคนแปลกหน้าก็ทำให้เรามีความสุขได้แล้ว 

หากเราเป็นคนที่กำลังหาความสุขให้กันตัวเอง เราก็ต้องเข้าใจว่าคนอื่นก็กำลังหาความสุขเช่นเดียวกัน การที่แต่ละคนจะช่วยเหลือแบ่งบันความสุขให้กันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ทำให้ผมมีความสุขครับ

บางครั้งเราอาจจะไม่มีความสุขเพราะกำลังเครียดเรื่องปัญหาอะไรอยู่ แต่หากเราเปลี่ยนมุมมองความคิดของเราจากการช่วยตัวเองมาเป็นการแบ่งเวลาเพื่อช่วยเหลือคนอื่น อาจจะด้วยการเป็นอาสาสมัคร การทำบุญ หรือการให้อาหารสุนัขหน้าเซเว่น สิ่งพวกนี้จะทำให้ปัญหาในใจของเราดูเล็กลงไปทันทีเลยครับ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและความสุขอย่างหนึ่งก็คือการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั่นเอง

การแพร่ความสุข

อารมณ์ต่างๆเป็นสิ่งที่สามารถสื่อสารกันได้ และ สิ่งที่ถูกสื่อสารก็สามารถถูกแพร่ให้กันได้ด้วย

หนึ่งในสาเหตุที่คนชอบไปปาร์ตี้นอกบ้านเจอคนเยอะๆก็เพราะว่าเราสามารถได้รับ ‘พลังงาน’ จากคนอื่นที่ถูกแพร่ให้เราได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นเวลาเราเห็นคนหัวเราะหรือยิ้มเราก็อยากจะหัวเราะหรือยิ้มกลับ

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนแปลกหน้า ผมคิดว่าเราสามารถมอบความสุขให้กับคนอื่นได้ง่ายๆด้วยรอยยิ้มหรือการทำความดีเล็กๆน้อยๆแต่ละวัน คนอื่นมีความสุข คุณก็มีความสุข พอคุณมีความสุข ความสุขนี้ก็จะถูกเผยแพร่ให้คนอื่นๆอีกครับ

แต่ละคนอาจจะมีนิยามความสุขไม่เหมือนกัน อาจจะมีมุมมองต่อความสุขไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดว่าการหาความสุขเป็นเรื่องเสียเวลา แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกตำราวิทยาศาสตร์ก็เขียนไว้เหมือนกันหมด

การให้มันย้อนแย้งตรงที่เราได้รับความสุขกลับมาเสมอ

ร่ายกาย สุขภาพ และ ความสุข

สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็เป็นส่วนหนึ่งของความสุข

หลายคนบอกไว้ว่าชีวิตจะดีได้แค่ไหนก็ไม่สู้การมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ซึ่งก็มีหลายงานวิจัยที่อธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายและความสุขครับ

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า สุขภาพร่างกายที่ดีจะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ยังไง

การออกกำลังกายทำให้มีความสุข

คนที่เล่นฟิตเนส วิ่งมาราธอน หรือเล่นโยคะ จะมีความสุขมากกว่าคนทั่วไปครับ การออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียด ลดอาการวิตกกังวล และ ลดความเบื่อหน่ายในชีวิตได้

ร่างกายที่แข็งแรงจะสามารถสร้างฮอร์โมนความสุขที่ช่วยลดความเครียดได้ครับ (oxytoxin, serotonin, dophamine, endorphin) ซึ่งก็เป็นหนึ่งวิธีที่แพทย์แนะนำสำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้าเลยครับ เพราะฉะนั้นต่อให้คุณเกลียดการออกำลังกายแค่ไหน ทุกครั้งที่คุณออกกำลังกายเสร็จคุณจะรู้สึกตัวโล่งและหายเครียดขึ้นมาทันทีเลย

นอกจากนั้นแล้วการออกกำลังกายยังช่วยให้เรานอนหลับสบายขึ้นด้วยครับ ซึ่งหากพูดเรื่องการนอนกับความสุขแล้ว…

การนอนและความสุข

การนอนและความสุข

ใช่แล้ว การนอนคือความสุขอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพราะว่าเรารู้สึกดีที่อยู่เฉยๆไม่ต้องทำอะไรนะครับ แต่การนอนอย่างพอเพียงช่วยทำให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และร่ายกายที่ทำงานได้ดีก็จะประสบปัญหาเรื่องความเครียดน้อยลง

ในยุคนี้ คนเรามีหลายสิ่งที่ให้ทำและมีหลายอย่างที่เรียกร้องความสนใจของเราอยู่เสมอ บางคนอาจจะมองการนอนว่าเป็นการ ‘เสียเวลา’ เราควรเอาเวลาไปทำงาน ดูทีวี เล่นเกม หรืออยู่กับครอบครัวมากกว่าหรือเปล่านะ 

คำตอบก็คือ ‘ไม่ควร’ ครับ

ยิ่งวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากเท่าไร เราก็จะยิ่งพบว่าร่างกายมนุษย์ทำงานเหมือนเครื่องจักรมากเท่านั้น มนุษย์เรามีจำนวนอาหารที่ต้องการในแต่ละวัน และ มีเวลาพัก (หรือที่เรารู้จักกันว่าเวลานอน) ที่เราต้องทำยอดให้ถึงด้วย หรือแปลว่าเราต้องนอนให้พอวันละ 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยนั้นเอง 

ผมเชื่อว่าคุณค่าของคนสามารถดูได้จากว่าเค้ารับผิดชอบชีวิตตัวเองได้มากแค่ไหน และการบริหารเวลาพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานได้ในระยะยาวก็เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ร่างกายที่นอนไม่พอจะรู้สึกเหนื่อยเสมอ สมองและปฏิกิริยาตอบโต้ช้า และมีโอกาสเครียดหรือซึมเศร้ามากกว่าเดิม 

เรื่องความสุขและสุขภาพร่างกายเป็นอะไรที่ผมเขียนไว้เยอะแล้ว แต่หากสนใจเพิ่มเติมผมแนะนำให้สอบถามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดูก็ได้ครับ คำแนะนำของผมก็คือเราต้องเปลี่ยนมุมมองว่าการนอนเป็นเรื่องไม่ดีหรือเป็นการเสียโอกาส และให้คิดว่ามันเป็นหน้าที่และการดูแลรักษาร่างกายแทน

ความสุขจากภายใน

ผมคิดว่าความสุขเป็นอะไรย้อนแย้งมากครับ ตอนที่เรารู้สึกเศร้าเราจะคิดไม่ออกเลยว่าความสุขมันหน้าตาเป็นยังไงหรือหาได้ที่ไหน แต่ตอนที่เรามีความสุขเราก็จะเข้าใจทันทีว่ามันง่ายนิดเดียวเอง

ปัญหาก็คือช่วยที่เราต้องการความสุขมากที่สุด สภาพร่างกายและสภาพจิตใจของเรานั้นจะไม่เอื้ออำนวยช่วยให้เรามีความสุขได้เลย

ความสุขสามารถมาจากภายในได้ แต่ความสุขภายในอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คุณมีความสุขแท้จริง 100% ได้ (อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์ก็ว่าไว้แบบนี้) ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณร้องไห้อยู่ ต่อให้คุณบอกตัวเองว่า ‘ฉันมีความสุขหนึ่งร้อยครั้ง’ คุณก็คงไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้ทันที

ความสุขภายในเป็น ‘ยาขม’ ของชีวิตที่ยึดติดกับวัตถุต่างๆ อีกหนึ่งคำถามที่เราได้ยินบ่อยก็คือ ทำไมมีทุกอย่างแล้วถึงยังไม่มีความสุข? ในส่วนนี้คุณสามารถอ่านบทความวิเคราะห์ได้ที่นี่ ทำไมคุณมีทุกอย่างแล้วถึงยังไม่มีความสุข

บทความส่วนนี้จะอธิบายว่า ในกรณีที่คุณสามารถ ‘เลือก’ ที่จะมีความสุขได้ คุณควรทำยังไงบ้าง

เมื่อไรที่เราสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้

เมื่อไรที่เราสามารถเลือกที่จะมีความสุขได้ - วิธีหาความสุข

เราสามารถมีความสุขได้ ถ้าเราเลือกที่จะแคร์กับสินที่เราสามารถควบคุมได้ครับ

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณตื่นสาย กำลังรถติดอยู่ และคิดว่าจะไปทำงานสายแน่ๆ คุณจะทำยังไง? คนส่วนมากก็คงรู้สึกเครียด หรือหงุดหงิดว่าทำไมรถข้างหน้าถึงขับรถช้าจังเป็นต้น แต่หากเราสามารถใจเย็นและพยายามขับรถให้ดีที่สุดโดยที่ไม่ต้องผูกมัดกับผลลัพธ์ว่าเราจะไปถึงได้เมื่อไร เราก็จะมีความสุขได้ 

ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องที่ทำใจยากที่จะสนใจแค่สิ่งข้างหน้ามากกว่าผลลัพธ์ แต่ในกรณีที่เราเลือกที่จะทำให้ดีที่สุดแล้ว ผลลัพธ์มันไม่ใช่อะไรที่เราควบคุมได้อีกต่อไป

ที่ผ่านมาผมได้อธิบายไว้หลายอย่างแล้วว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้เรามีความสุขได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพร่างกาย ความสัมพันธ์ หรือการคิดบวก ปัจจัยหลายอย่างในชีวิตก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา (คนที่สุขภาพดีก็อาจจะเจออุบัติเหตุหรือเป็นโรคอะไรซักอย่าง) เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้ แต่เราสามารถควบคุมปฏิกิริยาตอบโต้ของตัวเองได้ 

ปฏิกิริยาตอบโต้คือสิ่งที่คนพูดถึงกันเวลาบอกว่า ‘ความสุขเป็นสิ่งที่อยู่ในมือเรา’

หากคุณรถติดและกำลังจะไปทำงานสายคุณอาจจะ

  • เปิดเพลงและร้องคาราโอเกะระหว่างทาง
  • โทรหาคนที่ทำงานและเริ่มประชุมผ่านโทรศัพท์
  • พักรถกินข้าวเช้ากัน อาจจะทำงานนอกสถานที่ไปด้วยเลย

ทุกคนมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน แต่ถ้าเราเลือกที่จะมองหาโอกาสให้มากเข้าไว้ ความสุขก็อยู่ไม่ไกลหรอกครับ

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข

มีสองกรณีครับ 

ข้อแรกก็คือเราคิดว่าเราไม่สิทธิ์ที่จะมีความสุขเพราะเราเลือกไม่ได้ เรารู้สึกว่าเราตึดอยู่กับปัญหานี้และไม่มีทางออกหรือทางแก้อะไรทั้งนั้น การรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ หรือ รู้สึกผิด เป็นอะไรที่ยากที่จะแก้ไข และผมก็เข้าใจว่ามันคงไม่มีสวิตซ์ที่เราจะเปิดปิดความคิดพวกนี้ได้ 

กรณีที่สองก็คือการที่เรามี ความเห็นอกเห็นใจมากเกินไป (empathy) ความเห็นอกเห็นใจเป็นทักษะสร้างสัมพันธ์เข้าสังคมที่ดี แต่ในกรณีสุดโต่งที่คนที่เรารักหรือให้ความสำคัญมีปัญหา เราก็จะตกอยู่ในช่วงความคิดว่า ‘คนอื่นไม่มีความสุข เราจะมีความสุขได้เหรอ’ 

ไม่ว่ามุมมองต่อความสุขของคุณเป็นยังไง คุณต้องเข้าใจว่าคุณมีสิทธิ์ในการมีความสุขเสมอ แต่ความสุขจากการเปลี่ยนมุมมองชีวิตไม่ใช่อะไรที่ทำได้ในวันสองวัน หากคุณเริ่มมีความคิดแบบนี้ให้เริ่มจากการเปลี่ยนอะไรที่ทำได้ง่ายก่อนเช่นเริ่มออกกำลังกายหรือนอนให้พอเพื่อทำให้ร่างกาย ‘พร้อมรับความคิดแง่บวก’ มากขึ้น

บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ


บทความล่าสุด