Ego Id และ Superego คืออะไร – ทฤษฎีบุคลิกภาพ แบบง่ายๆ

Ego Id และ Superego คืออะไร - ทฤษฎีบุคลิกภาพ แบบง่ายๆ

หากพูดถึงเรื่องจิตใต้สำนึกแล้ว ในเชิงจิตวิทยาก็คงไม่มีใครไม่คิดถึง ‘ทฤษฎีบุคลิกภาพ Id Ego และ Superego’ ของบิดาแห่งจิตวิเคราะห์อย่าง ซิกมัน ฟรอยด์

สมอง จิตใจ และความคิดของมนุษย์เป็นเรื่องที่น่าพิศวงมาก เพราะขนาดมนุษย์เราฉลาดขนาดไปเดินบนดวงจันทร์ แก้ปัญหาโรคระบาดหลายอย่างได้ มนุษย์ก็ยังไม่เข้าใจตัวเองอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ‘เข้าใจได้ยาก’ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเข้าใจให้ดีขึ้นไม่ได้ ในบทความนี้เรามาลองดูกันว่า ทฤษฎีบุคลิกภาพ Id Ego และ Superego คืออะไร และ แนวคิดแบบนี้ดียังไงบ้าง ไม่ต้องกลัวครับ ผมได้ย่อยมาให้แบบเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว

ทฤษฎี Id Ego และ Superego คืออะไร – รูปแบบโครงสร้างของจิต ของ ซิกมัน ฟรอยด์ (Structural Model of the Psyche) 

Id Ego Superego คือ สามระดับของจิต ที่ถูกนิยามไว้ในรูปแบบโครงสร้างของจิต ของ ซิกมัน ฟรอยด์ โครงสร้างของจิตใช้ในการอธิบายความซับซ้อนในวิธีคิด การกระทำ และกิจกรรมต่างๆของบุคคล โดย Id หมายถึงจิตไร้สำนึก Ego คือ อัตตา และ Supergo คือ อภิอัตตา

‘นางฟ้าบนไหล่ซ้าย มารร้ายบนไหล่ขวา’ อาจจะเป็นการอธิบาย Id Ego และ Superego ได้เรียบง่ายที่สุดแล้ว เพราะโครงสร้างของจิตเป็นแค่คำอธิบายแบบนามธรรม ไม่ใช่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสมอง และไม่ได้มีรูปร่างทางกายภาพแต่อย่างใด (แต่นักจิตวิทยามักจะใช้ ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ เป็นตัวอย่างในการอธิบายสามโครงสร้างนี้ ซึ่งผมจะเขียนอธิบายเพิ่มภายหลัง)

ต่อไปเรามองลองศึกษา Id Ego และ Superego แบบละเอียดกันนะครับ

Id คืออะไร (อิด)

Id (อิด) หมายถึง จิตไร้สำนึก เช่น สัญชาตญาณและความต้องการต่างๆ Id เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่กำเนิด เหมือนดั่งเด็กแรกเกิดที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมถึงความหิว ความต้องการต่างๆ ความโกรธ และ ความต้องการทางเพศ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ที่จะควบคุม Id ได้

ตัวอย่างที่น่าจะชัดเจนที่สุดก็คือความหิว เด็กที่หิวก็จะควบคุมตัวเองไม่ได้ เลือกที่จะร้องไห้มากกว่าเดินไปหาอะไรกินเอง ถึงแม้ว่าคนทั่วไปอาจจะมอง Id ว่าเป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เราควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว Id ก็คือว่าเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอด ป้องกันตัวเองอย่างหนึ่ง

เด็กที่หิว ร้องไห้เพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากคนที่พึ่งพาได้ คนที่โมโหแสดงอาการน่าเกลียด เพื่อขับไล่ปัจจัยต่างๆที่ทำร้ายตัวเองออกไป อย่างไรก็ตาม ‘อาการ’ เหล่านี้ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ที่แสดงพฤติกรรมจากจิตไร้สำนึกก็คงไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคม

ในการที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ ความสามารถในการควบคุมตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่การควบคุมตัวเองก็หมายถึงการอยู่เหนือจิตไร้สำนึกของตัวเอง หมายความว่าถึงแม้เราจะมีอายุมากขึ้นแค่ไหน Id ของเราก็ยังคงอยู่เสมอ เพียงแต่คนส่วนมากได้พัฒนาโครงสร้างจิตที่เรียกว่า Ego และ Superego ขึ้นมาด้วย

Ego คืออะไร (อัตตา)

Ego (อีโก้) หมายถึง อัตตา หรือ ตัวตนแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นตัวตนของเราที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้พฤติกรรมของเราสามารถถูกยอมรับได้ในสังคม และปัจจัยความคาดหวังของสังคมก็มีหลายอย่าง เช่นกาละเทศะ บรรทัดฐาน และ วัฒนธรรม

หน้าที่หลักของ Ego ก็คือ ‘การประนีประนอม’ ระหว่างความต้องการของตัวเรา และสิ่งที่เราจะกระทำจริงๆ ยกตัวอย่างเช่นหาก จิตไร้สำนึก (Id) ของเราบอกว่าร่างกายเราหิวแล้ว Ego ก็จะเป็นโครงสร้างความคิดที่ยับยั้งไม่ให้เราลงไปนอนร้องไห้รองพื้นเรียกร้องความสนใจ แต่จะเป็นส่วนที่ทำให้เราเดินเข้าไปในร้านอาหารอย่างเงียบๆ ไม่รบกวนคนอื่น

“การอดทนรอคอย (Delay of Gratification)” เป็นขั้นตอนง่ายๆที่ Ego จะสามารถตอบสนองความต้องการของ Id ได้ แต่จะต้องทำ ‘ในภายหลัง’ หมายความว่า Ego จะเป็นส่วนที่เลือก เวลาและสถานที่ ที่จะตอบสนองความต้องการ เช่น รอเที่ยงก่อนถึงจะกินข้าวได้ เลิกประชุมก่อนค่อยไปห้องน้ำ หรือ หลังสี่ทุ่มค่อยนอน

ซิกมัน ฟรอยด์ ได้เปรียบเทียบ Id ว่าเป็นม้า และ Ego ว่าเป็นคนขี่ม้า เพราะ Id คือพลังและแรงผลักดัน แต่ Ego มีหน้าที่ในการเลือกทิศทาง และ วิธีการกระทำ 

ม้าที่ไม่มีคนขี่ก็จะวิ่งไปทุกที่
ม้าที่มีคนขี่ก็จะไปถึงเป้าหมายที่ชัดเจนได้

หากพูดถึงคำว่า Ego คนส่วนมากก็มักจะนำไปเชื่อมโยงกับอาการของคนที่มี ‘อีโก้สูง’ มั่นใจตัวเองมากเกินไป ไม่ฟังคนอื่น แต่ในเชิงของจิตวิทยา และให้คำนิยามของซิกมันด์ ฟรอยด์ Ego เป็นแค่ตัวตนอย่างหนึ่ง ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ไม่ดี ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ทุกคนศึกษาบทความเรื่อง Ego หรือ อีโก้คืออะไร ของผมนะครับ

Superego คืออะไร (อภิอัตตา)

Superego (ซูปเปอร์ อีโก้) หมายถึง อภิอัตตา คือจิตส่วนที่คิดถึงศิลธรรมและจรรยาบรรณ เป็นแนวทางสำหรับการตัดสินใจ และเป็นตัวช่วยตัดสินว่าอะไรผิดและถูก Superego คือสิ่งที่เราเรียนรู้ซึมซับมาจากพ่อแม่และสังคมรอบตัวของเรา

‘ความรู้สึกผิด’ และ ‘ความรู้สึกภาคภูมิใจ’ คือ 2 กระบวนการที่ Superego ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมและความคิดของเรา หาก Ego ตัดสินใจทำตาม Id มากเกินไป เราก็อาจจะรู้สึกผิด รู้สึกอาย เราก็เลยไม่อยากทำตัวแบบนี้อีก และหาก Ego ตัดสินใจทำตาม Superego เราก็จะรู้สึกภูมิใจ นับว่าเป็นระบบการลงโทษและให้รางวัลตัวเองอย่างนึง 

หาก Id คือสิ่งที่เรามีติดตัวตั้งแต่เกิด Superego ก็คือสิ่งที่เราเริ่มพัฒนาขึ้นมาหลังจากที่เรารู้เรื่องแล้ว ซิกมัน ฟรอยด์บอกไว้ว่าเด็กส่วนมากเริ่มสร้าง Superego ขึ้นมาในช่วงอายุ 3-5 ขวบ และภาพที่เราจะเห็นได้บ่อยก็คือ คน (Ego) ที่มี นางฟ้า (Superego) บนไหล่ซ้าย มารร้าย (Id) บนไหล่ขวา นั่นเองครับ

กรณีที่น่าสนใจของ Ego และ Superego ก็คือการที่คนเราทำดี ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ความคิดของเราเลือกที่จะกดดันตัวเองมากขึ้นไปอีก ไม่ยอมให้รางวัลตัวเอง จนคิดว่าตัวเองไม่เก่ง สำหรับคนที่คิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง Imposter Syndrome และ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง นะครับ

ภูเขาน้ำแข็ง และ ประโยชน์ของ ทฤษฎี Id Ego Superego [Iceberg Theory]

ภูเขาน้ำแข็ง คือการเปรียบเทียบจิตใต้สำนึกเรา น้ำแข็งที่อยู่บนน้ำ เปรียบเหมือนสติของเรา ที่เป็นแค่เพียงเศษเสี้ยวของภูเขาน้ำแข็งทั้งหมด ภูเขาน้ำแข็งใต้น้ำที่มองไม่เห็น คือจิตไร้สำนึก เป็นความต้องการ ความคิด และความทรงจำ ที่เราควบคุมไม่ได้

ภูเขาน้ำแข็ง และ ประโยชน์ของ ทฤษฎี Id Ego Superego [Iceberg Theory]

โดยที่ จิตสำนึก (conscious mind) คือสิ่งที่เรารู้สึกได้ จิตไร้สำนึก (unconscious mind) คือสิ่งที่เรารับรู้ไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ และ จิตก่อนสำนึก (preconscious) คือสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้คิดถึงอยู่ตลอดเวลา แต่ก็สามารถนึกถึงได้หากถูกเตือนผ่านสิ่งกระตุ้นต่างๆ

ซิกมัน ฟรอยด์ อธิบายไว้ว่า คนที่เข้าสังคมเก่ง ประพฤติตัวดี เราคือคนที่สามารถควบคุม Ego ได้ดี คนที่มี Id มากเกินไปก็คือคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่คำนึงถึงผู้อื่น แต่คนที่มี Superego มากเกินไป ก็อาจจะกลายเป็นคนที่เคารพกฎหมาย ระบบธรรมเนียมมากเกินไป จนไม่สามารถยอมรับความคิดที่แตกต่างหรือแสดงความเห็นอกเห็นใจให้ที่คิดไม่เหมือนได้ 

Id Ego Superego จะมีการทำงานร่วมกันในหลายรูปแบบ ในรูปแบบแรกก็คือ Id แสดงให้เรารู้สึกถึงความต้องการ แต่ Superego ก็ยับยั้งไม่ให้ตัวเองทำผิดศีลธรรม 

รูปแบบที่ 2 ที่เราจะเห็นได้บ่อยก็คือระบบความคิดการตัดสินใจ ที่ ‘ระบบที่ 1’ มีหน้าที่ช่วยให้เราคิดเร็ว ตัดสินใจผ่านสัญชาตญาณและอารมณ์ ส่วน ‘ระบบที่ 2’ สามารถทำให้เราคิดลึก ตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้ ซึ่งหนังสือ Thinking Fast and Slow ของ Daniel Kahneman ผู้ชนะรางวัลโนเบลปี 2011 ก็ได้อธิบายระบบความคิด 2 อย่างนี้ไว้อย่างน่าสนุกครับ (แต่อ่านยากนิดหน่อย)

*ผมขอเรียกว่าเป็นระบบที่คล้ายกัน มากกว่าเกี่ยวข้องกัน เพราะ Daniel Kahneman เขียนในเรื่องกรณีศึกษาของการตัดสินใจของมนุษย์ แต่ Sigmund Freud จะเขียนเรื่องจิตใต้สำนึกมากกว่า ที่สำคัญก็คือ ในเชิงของจิตวิทยาสมัยใหม่ หลายคนมองผลงานของ Sigmund Freud ว่าเป็น ‘วิทยาศาสตร์เทียม’ (pseudoscience) 

บทเรียนของ ทฤษฎี Id Ego Superego ก็เหมือนกับบทเรียนชีวิตทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Id Ego Superego ทุกอย่างก็มีข้อดีข้อเสียเป็นของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับรู้ตัวเองได้ดีแค่ไหน อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดี อะไรที่น้อยเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน

สุดท้ายนี้ผมขอออกตัวนะครับว่า ซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็น ‘นักทฤษฎี’ ทางจิตวิทยา ต่อให้ทฤษฎีของฟรอยด์ คล้ายคลึงกับความเป็นจริงมากแค่ไหน หลักการจิตวิเคราะห์ในสมัยก่อน ก็ไม่สามารถถูกพิสูจน์ตามหลัก ‘วิทยาศาสตร์สมัยใหม่’ ได้เสมอไป อย่างไรก็ตามผมก็ยังคิดว่าฟรอยด์เป็นคนที่มีความคิดที่น่าสนใจมากคนหนึ่ง ไว้ในอนาคตผมจะเขียนบทความอธิบายทฤษฎีอื่นๆของฟรอยด์ให้ทุกคนอ่านอีกนะครับ

บทความล่าสุด