ความไม่เท่าเทียม คืออะไร – ปัญหาที่เราเลือกที่จะไม่เห็น

ความไม่เท่าเทียม คืออะไร - ปัญหาที่เราเลือกที่จะไม่เห็น

ความไม่เทียมถือว่าเป็นปัญหาที่มีมาหลายร้อย หลายพันปีแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ชอบช่วยเหลือพรรคพวกตัวเอง ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่คนกลุ่มน้อยมักถูกกีดกันทางโอกาสเวลาที่คนกลุ่มใหญ่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ 

‘การเรียกร้องสิทธิ’ ก็ยังเป็นสิ่งที่เรายังเห็นได้บ่อย และปัญหานี้ก็เกิดขี้นทั่วโลกเลย ประเทศไทยก็มีการประท้วง ต่างประเทศก็มีการประท้วง เหมือนกับว่ามนุษย์มีปัญหาในการอยู่ด้วยกันเป็นสังคมกลุ่มใหญ่ เทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ที่ถูกออกแบบมาให้คนเข้าหากันได้ง่ายขึ้น กลายเป็นเครื่องมือการแบ่งชนชั้นที่ร้ายแรงที่สุด 

บทความนี้จะพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมในสังคม ว่าความไม่เท่าเทียมคืออะไร เกิดจากอะไร ตัวอย่างความไม่เท่าเทียมใกล้ตัวเรามีอะไรบ้าง และวิธีแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในสังคม

ความไม่เท่าเทียม คืออะไร – ปัญหาที่เราเลือกที่จะไม่เห็น

ความไม่เท่าเทียม หมายถึงความไม่เทียมทางสิทธิ์ โอกาส รายได้ หรือความร่ำรวย ระหว่างบุคคลสองกลุ่ม โดยมักจะถูกใช้ในมุมมองความไม่เท่าเทียมทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน และสิทธิทางสังคม โดยสาเหตุหลักมาจากระบบของสังคม และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจ 

มักจะเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันมานาน ว่าความเท่าเทียมแบบไหนที่ชอบธรรม และความเท่าเทียมแบบไหนที่ไม่ยุติธรรม ‘คนไม่ถึง 1% ของสังคมที่สร้างตัวจาก 0 จนกลายเป็นเศรษฐี’ สามารถใช้เป็นข้ออ้างของคนกลุ่มใหญ่ในการกีดกันคนกลุ่มน้อยไม่ให้เข้าถึงโอกาสหรือเปล่า

โดยรวมแล้ว สังคมมักยอมรับได้ว่าคนรวย (หรือกลุ่มคนอื่นๆที่มีอภิสิทธิ์มากกว่าคนอื่น) ควรจะมีความได้เปรียบเหนือคนกลุ่มอื่นในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอภิสิทธิ์นี้ถูกสร้างมาจากทักษะหรือความพยายามที่มากกว่าคนอื่น นับว่าเป็น ‘รางวัล’ อย่างหนึ่งในระบบสังคมทุนนิยม ที่เป็นฟันเฟืองของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้สังคมสามารถพัฒนากิจการหรือเทคโนยีใหม่ๆได้

แต่สิ่งที่เราต้องถามกันก็คือ ความได้เปรียบที่มากเกินไป มีหรือเปล่า? ขนาดในเชิงธุรกิจ เวลาที่ธุรกิจเป็นเจ้าตลาดผูกขาดมากเกินไป รัฐบาลยังต้องเข้ามาแทรกแซงเลย (ไม่อย่างนั้นธุรกิจเหล่านี้จะตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ ปฏิบัติกับผู้บริโภคยังไงก็ได้) แต่ในเชิงสังคมนั้น การแทรงแซงเหล่านี้มีน้อยมาก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ ความเสียเปรียบจากความไม่เท่าเทียม เกิดมาจากสิ่งที่ไม่ควรมีตั้งแต่แรกแล้ว เช่นการกีดกันทางเพศ การกีดกันทางสีผิว เหมือนกับว่ารูปลักษณ์ภายนอกและปัจจัยที่เราเลือกไม่ได้ กลายเป็นข้อจำกัดที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง 

ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้ง คนกลุ่มใหญ่ก็ร่วมมือกันแกล้งคนกลุ่มน้อย ไม่ได้เพียงแค่ไม่ให้โอกาส แต่ทำให้โอกาสน้อยลงมากไปอีก 

เมื่อหลายพันปีที่แล้ว ‘เพศชาย’ คือเพศที่มีความได้เปรียบในเชิงปฏิบัติเยอะ ร่างกายใหญ่กว่า มีแรงเยอะกว่า ทำให้สามารถออกไปหาอาหาร ล่าสัตว์ชนิดต่างๆได้ แต่ทำไมเราถึงยังต้องคงความได้เปรียบเหล่านี้ในสังคมที่ควรจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ ทำไมนายกในไทยถึงมีผู้ชายเยอะกว่า ทำไมผู้บริหารองค์กรส่วนมากถึงต้องเป็นผู้ชาย ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้ว ตัวเลขเหล่านี้ควรจะเท่าเทียมกันหรือเปล่า 

ผมเชื่อว่าคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้หญิงส่วนมากคิดกัน ส่วนผู้ชายคงคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ประวัติศาสตร์สอนให้เราเข้าใจก็คือว่า ‘สิ่งที่เหมือนจะเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ’ 

การเลิกทาสก็ถือเป็นการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมอย่างหนึ่ง และในอเมริกา หลายคนก็คงเคยได้ยินเรื่อง Martin Luther King กับ Rosa Parks ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่คนผิวสี…แต่ในปัจจุบันเราก็เห็นแล้วว่า ถึงแม้คนกลุ่มน้อยจะมีสิทธิ์มากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีสิทธิ์ไม่เท่าเทียมกับคนกลุ่มใหญ่อยู่ดี

ปัญหา ‘ความไม่เท่าเทียม’ เกิดจากอะไร

ความไม่เท่าเทียมเกิดมาจากการเลือกปฏิบัติของคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งการเลือกปฏิบัติ ตั้งแต่ ความไม่เข้าใจกัน การกีดกันในสังคม ไปจนถึงการเหยียดชนชั้นและเหยียดผิว ซึ่งทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึง โอกาส ความร่ำรวย การศึกษา หรือแม้แต่ สาธารณสุข

ถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชอบช่วยเหลือบุคคลที่ใกล้ตัว ในสมัยก่อนหากมนุษย์ไม่ออกไปล่าสัตว์ด้วยกัน ก็คงไม่สามารถหาอาหารมาเลี้ยงดูครอบครัวได้ และสิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในยุคปัจจุบัน ในรูปแบบของการช่วยเหลือผู้คนที่ฐานะเดียวกัน คนที่มีเพศเดียวกัน หรือคนที่มีชนชาติเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม คนส่วนมาก โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพล มีทรัพยากรเยอะ ก็เลือกที่จะช่วยเหลือแค่คนกลุ่มน้อยใกล้ตัว หมายความว่าคนกลุ่มอื่นๆจะถูกเมินเฉย เพราะในความเป็นจริงแล้วมนุษย์เรามีทรัพยากร เวลา และก็สมาธิที่จำกัด ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ทำครั้งสองครั้ง ก็คงจะไม่เป็นปัญหาอะไร แต่สิ่งที่เราเห็นในสังคมก็คือทำกันทั้งประเทศ และ ยิ่งทำเยอะครั้งก็ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน

ปัญหาก็คือ ความไม่เท่าเทียมจะทำให้เกิดความไม่พึงพอใจ และ ‘ความไม่พึงพอใจ’ ก็เป็นสิ่งที่สามารถสั่งสมได้นานหลายสิบ หลายร้อยปี จนบางครั้งเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ 

ในฐานะคนกลุ่มใหญ่ การช่วยเหลือกันเองก็เหมือนที่จะเป็นสิทธิ์ของเรา เงินก็เงินเรา เวลาก็เวลาเรา คำพูดก็คำพูดเรา การตัดสินใจก็การตัดสินใจเรา คนรวยจะเอาเงินไปบริจาคหรือจะเอาเงินไปซื้อรถหรูก็ได้…จริงหรือ? เจ้าของบริษัทจะจ้างแต่พนักงานบางเชื้อชาติก็ได้…จริงหรือเปล่า? 

วลี “Survival of the fittest” (หรือ “ผู้เหมาะสมที่สุดเท่านั้นจึงอยู่รอด”) ในยุคสมัยนี้กลับดูไร้ความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจคนอื่นโดยสิ้นเชิง ในสมัยนี้ยิ่งเรามีโอกาส ทรัพย์สิน และความร่ำรวยเยอะ เราก็ยิ่งมี ภาระทางสังคม และ ภาระทางจริยธรรม มากขึ้น (social and moral obligations)

เราจะเห็นได้ว่า คนกลุ่มใหญ่สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ก็คือคนที่จงใจกีดกันผู้อื่น (มีนิสัยกีดกันทางเพศ กีดกันผิวสี) คนที่เข้าใจปัญหาอยากหาวิธีแก้ และกลุ่มสุดท้ายก็คือ ‘คนที่ไม่รู้’ เพราะโตมาในสังคมที่ไม่เคยมีใครบอกให้รู้หรือสอนให้รู้มาก่อน 

ผู้ชายก็คงไม่เข้าใจปัญหากีดดันทางเพศหญิง คนไทยก็คงไม่เข้าใจการกีดกันผิวสีที่อเมริกา ถึงแม้ว่าความไม่รู้จะไม่ผิด แต่ความไม่รู้ก็ไม่ได้ถูก เพื่อให้ทุกคนรู้มากขึ้น ในส่วนถัดไปเรามาดูกันว่าความไม่เท่าเทียมที่เราเห็นได้รอบตัวเรา (โดยที่เราอาจจะไม่สังเกตมาก่อน) มีอะไรบ้าง

ความไม่เท่าเทียมในประเทศไทย

 ความไม่เท่าเทียมในประเทศไทยมีอยู่หลายอย่าง เช่นความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความไม่เท่าเทียมทางสังคม และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าต้นตอของปัญหาเหล่านี้จะไม่เหมือนกัน แต่เราก็สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการรับรู้และไม่เหมือนเฉย

และเพื่อที่จะรับรู้ได้มากขึ้น เรามาลองดูปัญหาความไม่เท่าเทียมต่างๆในประเทศไทยกันเลยครับ

ความไม่เท่าเทียมของเพศหญิงและเพศทางเลือก

ถึงแม้ว่าในประเทศไทย สัดส่วนผู้บริหารผู้หญิงจะมีเยอะกว่าในต่างประเทศ แต่โดยรวมแล้วก็ยังไม่เท่าเทียมอยู่ดี ต่อให้มีทักษะเท่ากัน จบมหาลัยเดียวกัน ผู้บริหารชายก็มีเงินเดือนมากกว่าผู้บริหารหญิง บอร์ดบริหารต่างๆในไทย หากไม่ใช่ธุรกิจในครอบครัวช ผู้บริหารหญิงก็ถือว่ามีน้อยมาก 

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีปัญหาอื่นๆทางสังคมอีก เช่นการลาคลอดและการเสียโอกาสในการทำงาน หรือการที่ผู้หญิงต้องซื้อผ้าอนามัย ทั้งๆที่ ‘สาธารณะสุข’ ควรที่จะเป็นสิทธิ์ของทุกคน (และควรที่จะเป็นสิ่งที่ฟรี) ก็เป็นเรื่องโต้เถียงกันสมัยนี้เช่นกัน

นี่เป็นแค่ตัวอย่างของเพศหญิงนะครับ เพศทางเลือกอื่นที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับทางสังคมก็ประสบปัญหามากกว่านี้ โดยทวีคูณ เช่นสิทธิ์ในการแต่งงาน การถูกเลือกจ้าง การเลือกให้บริการ และ เลือกปฏิบัติ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างของคำพูดที่ว่า ‘ไม่เจอกับตัวคงไม่รู้สึก)

ความไม่เท่าเทียม ทางเศรษฐกิจ

เป็นตัวอย่างความไม่เท่าเทียมที่ถูกพูดถึงบ่อย คนรวยก็รวยขึ้น กู้เงินได้ดอกเบี้ยถูก คนจนก็จนลง เลือกไม่ได่ต้องซื้อของจำนวนน้อยในราคาแพง

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจแสดงให้เห็นว่ากลไกทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ดีต่อสังคมทุกส่วนเสมอไป ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือน ความยากจน หรือแม้กระทั่งอาชญากรรม ก็ถูกเชื่อมโยงได้กับการความไม่เท่าเทียม ทางเศรษฐกิจที่มากเกินไป

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่สามารถล้มระบบทุนนิยมได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่เราควรใส่ใจกันมากขึ้นก็คือการนำข้อดีของระบบสังคมนิยมมาใช้ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งก็เป็นความท้าทายของผู้นำประเทศทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายเศรษฐกิจที่จะต้องแก้ไข หากใครสนใจอ่านเพิ่มผมแนะนำให้ศึกษาบทความเรื่อง ข้อดีและข้อเสียของสังคมนิยม และ ความจนและปัญหาความยากจนในครอบครัว

ความไม่เท่าเทียม ทางสังคม

การศึกษาและสาธารณะสุข เป็นสองสิ่งที่ถูกถกเถียงกันมาก ในฐานะประเทศที่เจริญแล้ว เรายอมรับได้แค่ไหนที่ประชากรเด็กบางส่วนไม่ได้เรียนหนังสือ อาจจะเพราะที่บ้านไม่มีเงิน หรือเพราะต้องทำงานช่วยครอบครัว ถึงแม้ว่าโรงเรียนรัฐหลายแห่งจะเรียนฟรี แต่ค่ารถ ค่าชุดนักเรียน ค่าทำกิจกรรมต่างๆก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่หนักอยู่สำหรับพ่อแม่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน

สิ่งที่คนถามกันบ่อยก็คือ ‘สิทธิ์ความเป็นคน’ คืออะไรบ้าง หากเราเกิดมาไม่ได้รับโอกาสอะไรเลย อย่างน้อยที่สุดแล้วเราควรจะมีข้าวกินสามมื้อหรือเปล่า เราควรจะได้รับการรักษาพยาบาลอะไรบ้าง และ หากคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ประเทศและสังคมจะก้าวหน้าพร้อมกันไปได้อย่างไรกัน

ในโลกของธุรกิจ ที่เหมือนทุกอย่างจะสามารถถูกวัดค่าได้ด้วยเงิน ความไม่เท่าเทียมก็กลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกตีความด้วยกฎหมาย องค์กรสามารถปฏิเสธพนักงานพิการได้เพราะทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าคนทั่วไป งานบางที่ก็ไม่รับผู้ชาย งานบางที่ก็ไม่รับผู้หญิง และหากคุณเป็นเพศทางเลือก โอกาสของคุณก็ยิ่งน้อยลงไปอีก 

แต่คนกลุ่มน้อยก็คือคนกลุ่มน้อย ต่อให้ออกมาเรียกร้องมากแค่ไหน หากผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล ไม่รับฟังปัญหาก็คงไม่ได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม คนกลุ่มใหญ่ก็ต้องออกมาช่วยเหลือ ไม่ใช่เพราะอยากได้ผลตอบแทน แต่เพราะความเท่าเทียมเป็นสิ่งที่ยุติธรรม

การแก้ปัญหา ความไม่เท่าเทียม

ในแง่ของคนรวย มีเงินเยอะ คำตอบในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมก็คงเป็นอะไรตรงไปตรงมาอย่างการบริจาคเงิน ใช่ไหมครับ แต่ทำไมทั้งๆที่ บิลเกต กับ วอเรนบัฟเฟต บริจาคเงินไปตั้งเยอะ แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ขนาดนั้น เพราะสุดท้ายแล้ว เงินอย่างเดียวก็ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ 

แล้วการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมต้องทำยังไง 

ทุกวันนี้ผู้นำในสังคมมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือคนอื่น ผมใช้คำว่า ‘หน้าที่’ เพราะในสมัยนี้มันไม่เพียงพอแล้วที่คนรวยจะใช้เงินเพื่ออะไรก็ได้ เจ้าของบริษัทจะจ้างใครก็ได้ที่ตัวเองชอบ เพราะหากเรามีสิทธิ์เหนือคนอื่น เราก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลคนอื่นเช่นกัน

แต่คำว่า ‘ผู้นำในสังคม’ ก็ไม่ได้จำกัดแค่คนรวย คนมีตำแหน่งสูง หรือคนดังเท่านั้น หากเรามองโลกให้กว้างขึ้น เปิดใจรับรู้สังคมใหม่ๆ เราก็จะเห็นแล้วว่า ‘คนกลุ่มน้อย’ ที่ถูกเอาเปรียบในสังคมมีเยอะมาก สำหรับคนจนที่ไม่มีข้าวกิน ชนชั้นกลางก็คือคนกลุ่มใหญ่ และในสังคมที่อาจจะไม่ได้มีฐานะทางการเงินดีมาก ‘เพศชาย’ ก็ยังถือว่าเป็นคนที่มีสิทธิ์เหนือเพศอื่น 

การแก้ปัญหาทางสังคมต้องแก้ผ่านระบบ และ ผ่านความร่วมมือของทุกคน ซึ่งการที่จะให้ทุกคนร่วมมือกันได้ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจก่อน

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนรับรู้และ ‘ตั้งคำถาม’ แน่นอนว่าความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำต่างๆในประเทศและในโลกของเรานั้นมีเยอะมาก ผมคงไม่สามารถอธิบายได้หมดภายในไม่กี่พันคำพูด (และผมก็มั่นใจว่า ตัวผมเองก็ไม่สามารถรับรู้และเข้าใจได้ทุกอย่างด้วย)

สุดท้ายนี้ หากคุณเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เห็นคนกลุ่มน้อยกำลังเรียกร้องสิทธิ์อยู่ คุณก็ยังไม่ต้องรีบโมโห ไม่ต้องรีบปกป้องสิทธิ์หรือทรัพย์สินตัวเองขนาดนั้น (เพราะไม่มีใครเอาสิทธิ์หรือทรัพย์สินไปได้ง่ายๆอยู่แล้ว) แต่ผมคิดว่าคุณควรรับฟังและลองเอาใจเขาในใส่ใจเราดูแทนครับ เผื่อจะได้เห็นมุมมองอะไรใหม่ๆ สายตาจะได้กว้างขึ้น

ผู้ชายไม่มีทางเข้าใจความไม่เท่าเทียมต่อเพศหญิงได้ จนกระทั่งมีลูกสาว

บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ

บทความล่าสุด