ความจนและปัญหาความยากจนในครอบครัว – ความจนคืออะไร

ความจนและปัญหาความยากจนในครอบครัว

ความจนถือว่าเป็นปัญหาหลักของสังคมทุนนิยมเลย ไม่มีใครอยากจน แต่การแก้ปัญหาความจนก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก

หากเราพูดถึงเรื่องความยากจน เราก็อาจจะนึกถึงปัญหาคนไม่มีข้าวกิน หมุนเงินไม่ทัน แต่ในความเป็นจริงแล้วปัญหาความยากจนมีรูปลักษณ์ที่น่าเกลียดกว่านั้นเยอะ คนที่ยากจนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเองหรือครอบครัวได้ เด็กจากครอบครัวที่ยากจนต้องพักการเรียนเพื่อมาทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ ซึ่งก็จะกลายเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันจบ 

ในบทความนี้เรามาลองตอบคำถามกันดูว่าความจนคืออะไร ทำไมระบบสังคมปัจจุบันถึงทำให้เกิดคนจน และทำไมปัญหาความยากจนถึงแก้ไขได้ยาก

ความจน คืออะไร? [Poverty หรือ ความยากจน]

ความจนหมายถึงการที่มีทรัพย์สินและรายได้ไม่มากพอสำหรับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ความยากจนเกิดจากปัจจัยไหลายอย่างทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยบุคคลที่ยากจนอาจจะขาดทรัพยากรพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการ เช่นอาหาร น้ำ ที่พัก เสื้อผ้า หรือการศึกษา

ในประเทศไทยมีประชากหลายล้านคนที่อยู่ในสภาวะยากจน อาจจะเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนอยู่แล้ว มีปัญหาทางสุขภาพทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเกินตัว หรืออาจจะโดนพิษของเศรษฐกิจทำร้าย

แน่นอนว่าปัญหาความยากจนก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นหรอก ในสายตานักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์บางคนอาจจะคิดว่าความยากจนเป็นสิ่งที่เลี้ยงไม่ได้ เศรษฐกิจทำให้มีคนรวย และเศรษฐกิจก็จะทำให้มีคนจน 

ซึ่งในส่วนท้ายของบทความผมจะเขียนอธิบายอีกทีว่าวิธีแก้ปัญหาความยากจน โดยเฉพาะปัญหาความยากจนในไทยน่าจะมีอะไรเป็นไปได้บ้าง แต่ก่อนที่เราจะไปถึงส่วนนั้น เรามาลองทำความเข้าใจปัญหาของความยากจนในครอบครัวกันก่อน

ปัญหาความยากจนในครอบครัว – ความยากจนเกิดจากอะไรกันแน่

ปัญหาความยากจนในครอบครัว เกิดจากการที่ทรัพย์สินและรายได้ในประเทศไม่สามารถกระจายสู่ประชาชนทุกคนได้ดีพอ หมายความว่าทรัพย์สินและรายได้ที่ถูกกระจายอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐานของประชากรบางส่วนในสังคม 

การไม่มีเงินมากพอสำหรับความต้องการพื้นฐานนั้น สร้างปัญหามากกว่าที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่า 

หากเรามาลองดูกันจริงๆแล้ว ในสังคมที่มีความยากจน เราจะเห็นได้ว่าระดับการศึกษามีน้อยมากหรือไม่มีเลย อัตราการหย่าร้างก็มีเยอะ ปัญหาอ่านหนังสือไม่ออก ปัญหาด้านสุขอนามัยเชื้อโรคต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้เขียนบมความนี้มาเพื่อบอกว่า คนรวยผิดที่ไม่แบ่งเงิน หรือ คนจนผิดที่ไม่ออมเงินนะครับ ปัญหาความยากจนเกิด จากการออกแบบโครงสร้างสังคมและโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดีพอ เงินและผลประโยชน์เลยไม่สามารถกระจายสู่ทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ซึ่ง ‘ประสิทธิภาพ’ ที่ผมเขียนก็ไม่ได้อธิบายยากอะไรเลย แค่เพียงพอสำหรับความต้องการของประชาชน ทุกคนมีเงินซื้อข้าวกิน ทุกคนสามารถรักษาตัวเองได้ถ้าป่วย เด็กทุกคนสามารถไปโรงเรียนได้

วัฏจักรแห่งความยากจน – ทำไมความจนแก้ยาก

วัฏจักรแห่งความยากจน หมายถึงการที่กลุ่มคนที่ยากจนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงโอกาสในสังคม ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองหรือสร้างเนื้อสร้างตัว ให้ครอบครัวหลุดออกมาจากปัญหาความยากจนได้ และ ทางแก้วัฏจักรแห่งความยากจนต้องมาจากปัจจัยภายนอกเท่านั้น 

ในบทความหัวข้อที่แล้ว ผมได้เขียนบอกไว้ว่าคนที่มีปัญหาความยากจน ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ ส่วนมากเรียนน้อยจนอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ หมายความว่ายังไง

หมายความว่า ประชากรส่วนนี้จะไม่สามารถเข้าถึงโอกาสพื้นฐานของสังคม ยกตัวอย่างเช่น หากคนทั่วไปมีปัญหา บ้านน้ำรั่ว เราก็อาจจะเปิดมือถือ Google หาช่างประปาที่ราคาถูกมาซ่อม 

ซึ่งคนที่มาจากฐานะที่ยากจน อย่างแรกเลยไม่มีมือถือ อย่างที่สองไม่มีอินเทอร์เน็ต อย่างที่สามอ่านหนังสือไม่ออกเลย Google ไม่ได้

แปลว่าคนส่วนนี้ต้องใช้เวลานานกว่าคนทั่วไปในการแก้ปัญหาง่ายๆ แถมบางครั้งอาจจะต้องเสียเงินมากกว่าคนทั่วไปด้วย เพราะตัวเลือกน้อยกว่า ถ้าเรามองว่าเวลาของแต่ละคนเท่าเทียมกัน คนที่ใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการหาช่างประปา กับ คนที่ใช้เวลาแค่ 15 นาทีเพื่อหาช่างประปา ใครจะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่ากัน

และแน่นอนว่าก็คงไม่สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มทักษะให้ตัวเองเพิ่มเติมได้ง่ายเข้ากลุ่มคนที่มีโอกาส

นอกจากนั้นคนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อให้ได้ราคาถูกได้ การตัดสินใจง่ายๆอย่างการซื้อมาม่าหลายห่อ การซื้อกระดาษทิชชูหลายมวน กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำให้คิดหนักเลย บางคนไม่มีแม้แต่ค่ารถเพื่อไปซื้อสินค้าที่ห้าง ทำให้ต้องซื้อของราคาแพงจากร้านสะดวกซื้อแถวบ้านด้วยซ้ำ

ในส่วนนี้ผมอยากให้แต่ละคนลองเขียนรายจ่ายพื้นฐานของตัวเองออกมาดู ว่าค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร หากรวมค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่ซื้อในราคา ‘ขายปลีก’ นั้นพอสำหรับการออมเงินให้ลูกไปเรียนหนังสือหรือเปล่า 

ความยากจน ประกอบไปด้วย 3 อย่าง การขาดโอกาส การขาดความรู้ และ การขาดทรัพยากร ซึ่งทั้งสามอย่างนี้ คนส่วนมากไม่สามารถหาได้ด้วยตัวเอง หากไม่มีคนช่วยบริจาค หรือ รัฐบาลช่วยส่งเสริม เราจะเห็นได้ว่าโอกาสที่คนที่ยากจนจะหลุดออกมาจากวัฏจักรนี้นั้นเป็นไปได้ยาก

การแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย – 5 นโยบาย ขจัดความยากจน

การแก้ปัญหาความยากจนของคนไทย คือการช่วยเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งวิธีแก้ส่วนนี้ต้องมาจากปัจจัยภายนอก ยกตัวอย่างเช่นการสร้างงานเพื่อลดคนว่างงาน การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ การเพิ่มสวัสดิการทำงานขั้นต่ำ และ การสนับสนุนการดูแลเด็กและการศึกษาขั้นต้น  

สุดท้ายแล้ว ปัญหาก็คือว่าเราจะออกแบบระบบสังคมยังไงให้สามารถเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายกับคนที่ยากจนได้ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับส่วนอื่น

ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มจำนวนงานในประเทศส่วนมากจะมาจากการสนับสนุนธุรกิจใหม่ หรือที่หลายคนอาจจะรู้จักกันในชื่อว่าธุรกิจ SME ซึ่งธุรกิจในหมวดหมู่นี้มีขนาดเล็ก มีโอกาสเติบโตสูง แต่ก็มีทุนต่ำ แถมยังต้องแข่งกับคู่แข่งเยอะอีก

แต่เราจะทำยังไงให้ธุรกิจ SME สามารถสนับสนุนการจ้างงานคนได้เยอะขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็อยากที่จะเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ เพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงาน (ซึ่งการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำก็เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจอีก) 

 ในบทความตัวนี้ผมมี 5 ปัจจัยที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ บางส่วนก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคธุรกิจ บางส่วนก็ต้องมาจากภาครัฐ หรือถ้าโชคดีบางส่วนครัวเรือนที่ยากจนก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง

#1 สร้างงาน

การสร้างงานเป็นปัจจัยแรกที่ช่วยได้ทั้งปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาความยากจน มีงานเยอะเท่ากับว่าคนมีรายได้มากขึ้น คนที่มีรายได้มากขึ้นก็จะจับจ่ายมาขึ้น เงินนี้ก็จะถูกนำมาใช้พัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

พูดแล้วเหมือนเรื่องในฝันเลย เพราะการสร้างงานเหมือนจะดีทุกอย่าง แต่ทำได้ยาก เพราะการจะทำให้บริษัทต้องการพนักงานมากขึ้น เศรษฐกิจและความต้องการของตลาดต้องได้…เอาเป็นว่าผมขอพูดเรื่องเศรษฐศาสตร์แค่ส่วนนี้แล้วกลับมาพูดเรื่องการสร้างงานแก้ความยากจน 

การมีงานเยอะหมายความว่าตัวเลือกก็เยอะขึ้น แปลว่าจำนวนคนที่ตกงานก็จะน้อยลง ซึ่งสำหรับคนที่ประสบปัญหาความยากจนแล้ว การขาดรายได้หนึ่งวันถึงไม่กี่เดือนก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่

งานที่สร้างขึ้นมาต้องสามารถสนับสนุนกลุ่มคนส่วนที่ยากจนได้ หมายความว่างานส่วนมากต้องเป็นงานที่ใช้ทักษะน้อย เช่นงานแรงงาน หรืออาจจะเป็นงานให้บริการพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการสร้างงานที่สามารถพัฒนาบุคลากรไปได้ด้วย อาจจะพัฒนาชั้นแรงงานให้มีความรู้ช่าง ซึ่งส่วนนี้ก็ต้องพึ่งพาการพัฒนาธุรกิจอีกทีหนึ่ง 

อีกหนึ่งส่วนที่สามารถดูได้ก็คือการนำบุคคลที่ตกงานระยะยาวเข้ามาทำงานใหม่ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ส่วนมากจะเป็นบุคคลที่หางานยากและอาจจะมีทักษะไม่เท่าเทียมกับแรงงานใหม่ๆ ในส่วนนี้ก็อาจจะต้องมีนโยบายที่สนับสนุนการจ้างงานบุคคลที่มีโอกาสน้อย หรือมีข้อเสียเปรียบบางอย่าง

#2 รายได้และสวัสดีการขั้นต่ำ

‘รายได้ขั้นต่ำ’ เป็นสิ่งที่ประชาชนชอบแต่ก็ทำให้นักธุรกิจกลัว ส่วนมากก็เพราะว่า ‘การขึ้นเงินเดือน’ โดยไม่เพิ่มทักษะให้กับคนงานนั้นเป็นการ ‘เพิ่มค่าใช้จ่าย’ ที่หลายธุรกิจอาจจะไม่สามารถจ่ายได้ 

แต่ ‘เงินเดือน’ ก็ยังเป็นรายได้หลักของประชาชนที่อยู่ในกลุ่มยากจนอยู่ดี ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่ารายได้ต่ำเกินไปก็จะทำให้เกิดความยากจน ในมุมมองเดียวกัน สวัสดิการต่างๆเช่นสิทธิในการลาหยุดลาป่วย (แบบไม่โดนหักเงินเดือน) ก็จำเป็นสำหรับพนักงานส่วนนี้มาก

ปัญหาเรื่องรายได้และสวัสดิการขั้นต่ำ ถือว่าเป็นปัญหาระดับประเทศ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาผลักดันให้มีการเพิ่มรายได้ส่วนนี้ 

ในส่วนที่ผ่านมาของบทความนี้ผมได้อธิบายไปแล้วว่า คนจนส่วนมากใช้จ่ายในส่วนความต้องการพื้นฐานมากกว่าคนรวย เนื่องจากว่ามีเงินหมุนน้อยทำให้ไม่สามารถซื้อของในจำนวนเยอะเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง และแน่นอนว่าตามกลไกเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายและค่าสินค้าต่างๆก็มีแต่จะราคาขึ้นเรื่อยๆ ตามหลักเงินเฟ้อ 

และส่วนมากแล้วเงินเดือนของพนักงานโสดนี้ก็ขึ้นไม่เยอะเพียงพอเทียบเท่ากับเงินเฟ้อ ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัฏจักรแห่งความยากจนนั้นแก้ได้ยาก 

ผมว่าสุดท้ายแล้วคำตอบก็อยู่ที่ว่าเราจะทำยังไงให้ ‘ทักษะ’ ของแรงงานมีมากขึ้น เพื่อที่จะผลักดันให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ ซึ่งพอธุรกิจแข็งแรงพอแล้วก็จะได้สนับสนุนจ่ายเงินเดือนให้กับคนมาขึ้น ตามความเหมาะสมของทักษะ

#3 สิ่งอำนวยพื้นฐาน เช่น การศึกษา การแพทย์

หลายคนให้ความคิดเห็นว่า การศึกษาและการแพทย์ ควรที่จะเป็นทรัพยากรพื้นฐานราคาถูก 

ผมไม่ได้หมายถึงโรงพยาบาลสุดหรูหรือโรงเรียนอินเตอร์ราคาแพงที่ชนชั้นกลางบางคนยังจ่ายไม่ได้นะครับ ผมหมายถึงการสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลให้เพียงพอ และหาวิธีทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้น้อยที่สุด เพื่อที่คนส่วนมากจะได้ไม่ต้องวิตกกังวลว่าลูกจะเรียนจบหรือเปล่า แต่ถ้าป่วยเป็นอะไรไปจะมีเงินรักษาหรือเปล่า

โดยพื้นฐานแล้วทางรัฐบาลมีนโยบายหลายอย่างเพื่ออำนวยกลุ่มคนรายได้ต่ำ อย่างไรก็ตามสวัสดิการตอนนี้ก็ยังมีไม่เพียงพอสำหรับคนจนทั้งประเทศ นอกจากนั้นแล้วคุณภาพก็ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวล 

นอกจากการศึกษาและการแพทย์พื้นฐานแล้ว การเลี้ยงดูครอบครัวก็เป็นสวัสดิการที่สามารถช่วยกลุ่มคนรายได้ต่ำได้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสถานเลี้ยงดูแลเด็กที่พ่อแม่สามารถให้ลูกไปอยู่ได้ สถานรับเลี้ยงเด็กจะช่วยลดปัญหาการที่ผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งต้องอยู่บ้านโดยไม่มีรายได้เพื่อเลี้ยงดูเด็ก หากสามารถแก้ส่วนนี้ได้รายได้ต่อ 1 ครัวเรือนที่มีเด็กก็จะเพิ่มเป็น 2 เท่าทันที 

ปัจจุบัน การสร้างครอบครัวถือว่าเป็นภาระทางการเงินสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ นอกจากนั้นแล้ว เราจะเห็นได้ว่าครอบครัวที่มีรายได้ต่ำส่วนมากจะมีขนาดครอบครัวใหญ่กว่าครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นสูง พูดง่ายๆก็คือ ‘คนจนมีลูกเยอะ’ 

ซึ่งส่วนนี้เป็นทั้งกลไกทางธรรมชาติและกลไกทางเศรษฐกิจ ผมคิดว่าการมีครอบครัวใหญ่เกินกว่าที่สามารถจ่ายได้นั้น สามารถแก้ได้หลายวิธี ส่วนนี้ต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายบริหารประเทศของรัฐบาล หากอยากให้มีลูกน้อยลงก็ต้องเน้นการสื่อสาร หากอยากเพิ่มประชากรก็ต้องเพิ่มสวัสดิการเอื้ออำนวย

#4 การกระจายรายได้ 

สุดท้ายแล้วการแก้ปัญหาความยากจนก็ต้องมาดูกันที่การกระจายรายได้ในประเทศ รายได้ส่วนมากก็มักจะมาอยู่กับนายทุนเพียงไม่กี่คน แต่ก็ใช่ว่านายทุนจะเป็นคนที่ผิด ในความคิดเห็นผมสิ่งที่ผิดก็คือระบบสังคมที่ให้ความสำคัญกับทุนนิยมมากเกินไป 

สิ่งที่เหมือนจะตรงข้ามกับทุนนิยมก็คือสังคมนิยม ซึ่งผมก็เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องสังคมนิยมไว้ หากใครสนใจอยากศึกษาเพิ่มเติมผมก็แนะนำให้อ่านในบทความนี้นะครับ สังคมนิยม คืออะไรกันนะ? ข้อดีและข้อเสีย [Socialism]

การกระจายรายได้เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก อย่างแรกเลยเราจะสื่อสารยังไงให้นายทุนส่วนมากกระจายเงินให้คนอื่น (ซึ่งก็ไม่ใช่หน้าที่อะไรของนายทุนเลย ต้องทำเพราะใจบุญมากๆ) อย่างที่สองก็คือเราจะกระจายรายได้ยังไงให้ทั่วถึงประชาชนที่ยากจนทุกคน 

การกระจายรายได้อย่างแรกมาในสิ่งที่เรียกว่าภาษีและความช่วยเหลือจากรัฐบาล หมายความว่าเวลาคนที่มีฐานะจ่ายภาษี ภาษีก็จะเข้าไปอยู่ในมือรัฐบาล รัฐบาลก็จะกระจายภาษีส่วนนี้ออกมาเป็นนโยบายต่างๆเพื่อช่วยเหลือคนที่มีรายได้ต่ำ อาจจะเป็นการสร้างโรงเรียนรัฐบาล ทำหลักประกันสุขภาพยัง 30 บาทรักษาทุกโรค หรืออาจจะมาในแนว ‘แจกเงิน’ 

ในส่วนนี้ผมมี 2 มุมมองจากต่างประเทศที่ทำแล้วได้ผลจริงแต่มีข้อจำกัดอยู่เยอะ 3

อย่างแรกก็คือในประเทศยุโรป ซึ่งมีประชากรน้อยกว่าประเทศไทยมาก (แปลว่ามีประชากรคนจนน้อยกว่าด้วย) รัฐบาลก็จะมีการลงทุนในส่วนการศึกษา การแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นให้กับประชากรทุกคนอย่างเต็มที่ การดำเนินงานแบบสังคมนิยมอย่างนี้ก็เป็นการกระจายรายได้ที่ดีอย่างหนึ่ง

รูปแบบที่สองก็คือเหมือนประเทศจีน ซึ่งมีประชากรเยอะมากจนไม่สามารถปกครองแบบประชาธิปไตยได้ ในส่วนนี้สิ่งที่รัฐบาลจีนทำได้ดีก็คือการบริหารการใช้เงิน ซึ่งสามารถไปประเทศจากที่มีคนจนเยอะ หลายคนอดตาย กลายเป็นอำนาจเศรษฐกิจใหญ่ของโลก

#5 ชนชั้นกลาง 

วิธีแก้ปัญหาความจน ก็คือการผลักดันให้คนที่มีรายได้ต่ำกลายเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย และก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ภายในปี 2 ปีด้วย

การที่เราจะให้ 1 ครัวเรือนนั้น ‘เลื่อนขั้น’ จากเป็นชนชั้นล่างกลายเป็นชนชั้นกลาง ถ้าเราไม่ได้พูดถึงปัจจัยภายนอก เราก็ต้องมาดูปัจจัยภายในอย่าง ‘การออมเงิน’ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละครัวเรือนมีรายได้เท่าไหร่

ซึ่งการออมเงินนั้น จะออกมาในรูปแบบของการออมเงินซื้อที่ดิน การออมเงินสร้างธุรกิจ หรือการออมเงินส่งลูกเรียนมหาลัย สุดท้ายแล้ว ถ้าคนจนมี ‘ทรัพยากรพื้นฐานที่มนุษย์ต้องการ’ เพียงพอแล้ว วินัยการออมและวิธีการใช้เงินก็เป็นสิ่งต่อไปที่ควรผลักดัน

ที่ดินและการศึกษา เป็น 2 อย่างที่มีผลตอบแทนในระยะยาว หากไม่มีอะไรผิดพลาด ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำก็จะสามารถหลักการให้รุ่นลูกกลายเป็นชนชั้นกลางได้ง่ายมากขึ้น

แน่นอนว่า ทุกอย่างที่เขียนในส่วนนี้อยู่ในสมมติฐานที่ว่า จะไม่มีเรื่องร้ายอะไรเกิดขึ้น เช่นพ่อแม่อาจจะไม่ได้ป่วยต้องใช้เงินรักษามาก ลูกเรียนมหาลัยอย่างตั้งใจและจบมามีงานทำ หรือการลงทุนในที่ดินไม่ถูกโกง 

สุดท้ายเกี่ยวกับความจนและการแก้ปัญหาความยากจน

สุดท้ายแล้วผมคิดว่า หลายคนในประเทศต่างจะจนเพราะตัดสินใจผิดพลาด หรือเป็นคนขี้เกียจก็จริง แต่คนจนส่วนมากเป็นแค่เหยื่อของกลไกเศรษฐกิจ บางคนอาจจะเกิดมาฉลาดมาก ขยันมาก แต่เกิดมาในครอบครัวที่มีโอกาสไม่มากพอ รวมกับโชคร้ายเจอปัญหาในชีวิตหลายๆอย่าง ก็อาจจะไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งความจนได้

ความจนเป็นสิ่งที่แย่มากๆ และความรู้สึกกลัวว่าพรุ่งนี้เราจะไม่มีอะไรกิน หากครอบครัวเราป่วยเราจะไม่มีเงินรักษา ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่ควรที่จะมีแล้วในสังคมสมัยใหม่แบบนี้

บทความนี้ตอนแรกผมตั้งใจจะให้เป็นบทความสั้นๆ เขียนเล่นๆเพื่อเรียบเรียงความคิดในสมอง แต่เขียนไปเขียนมา ผมกลับรู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ผมควรที่จะอธิบายออกมาให้ชัดเจน ใครที่อ่านมาถึงขนาดนี้ได้ผมก็ขอขอบคุณมากครับ 

สิ่งสุดท้ายที่ผมน่าจะพูดในบทความนี้ก็คือ ผมเชื่อว่าสักวันสังคมเราต้องหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องความจนได้ แต่กว่าเราจะไปถึงระบบสังคมแบบนั้นได้ เราก็อาจจะต้องมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นมิตรขึ้นสำหรับประชาชนทุกคน

บทความเกี่ยวข้องที่เราแนะนำ


บทความล่าสุด