Burnout Syndrome คืออะไร – วิธีสังเกตและแก้ปัญหาหมดไฟ

Burnout Syndrome คืออะไร - วิธีสังเกตและแก้ปัญหาหมดไฟ

อาการภาวะหมดไฟ หรือ Burnout เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยกว่าที่คุณคิด โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่มีแรงกดดันจากสิ่งรอบข้างเยอะมาก ซึ่งความคาดหวังถูกสั่งสมมากเกินจำเป็นก็จะกลายเป็นความเครียดที่เราลืมรับรู้ สุดท้ายแล้ว ภาระ ความเครียด ความคาดหวังเรานี้ก็จะกลับมาทำร้ายตัวเราเอง หากเราไม่หัดสังเกตและดูแลตัวเองให้ดี

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพราะในยุคนี้ หลายคนให้ความสำคัญกับความสำเร็จ หน้าที่การงาน หรือ เงินในบัญชี มากกว่าสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจของตัวเอง จนบางทีก็ลืมไปว่า การเป็นมนุษย์คือการหาสมดุลระหว่างภาระหน้าที่ ความฝัน แล้วก็ความสุขของตัวเอง และคนที่มัวแต่ไขว่คว้าเป้าหมายไม่กี่อย่าง จนลืมรักษาสมดุลนี้ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่สามารถไขว่คว้าอะไรได้เลย

ในบทความนี้ เรามาดูกันว่า Burnout Syndrome คืออะไร มีข้อเสียอย่างไรกับการใช้ชีวิต เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเราเป็นหมดไฟหรือปล่าว และที่สำคัญกว่าก็คือเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

Burnout Syndrome คืออะไร – อาการหมดไฟที่ไม่ใช่การคิดไปเอง

Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟ คืออาการล้าทางอารมณ์ ร่างกาย และจิตใจที่เกิดจากความเครียดที่มากเกินไปเป็นเวลานาน เช่นรู้สึกเหนื่อย หมดหวัง กดดันจากหน้าที่ภาระต่างๆ หากไม่ได้ถูกรักษา ผู้ป่วยก็อาจหมดความสนใจหรือหมดแรงจูงใจในการทำหน้าที่ของตัวเอง 

ซึ่งอาการหมดไฟ ก็จะทำให้ที่ประสิทธิภาพในการทำงานของเราน้อยลง เราเหนื่อยง่ายขึ้น หมดแรงเร็วขึ้น หลายคนที่หมดไฟก็จะมีอาการสิ้นหวัง รู้สึกอ่อนแอ มองโลกในแง่ร้าย แล้วก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย

ถึงแม้ว่าการ Burnout หมดไฟ จะถูกเชื่อมโยงกับการทำงาน แต่ burnout ก็สามารถใช้ได้กับการเรียน การใช้ชีวิต งานอดิเรก หรือแม้แต่การเข้าสังคม และแน่นอนว่าหากอารมณ์และจิตใจของเราอ่อนแอ ร่างกายของเราก็จะถูกระทบด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากอาการนอนไม่หลับ ภูมิต้านทานต่ำลง ป่วยง่าย

ในบทความส่วนถัดไป ผมจะเขียนเกี่ยวกับอาการทางร่างกาย จิตใจ และ อารมณ์ ที่จะเกิดขึ้นได้กับคนที่หมดไฟนะครับ

ตัวอย่างของการหมดไฟที่เราเห็นได้บ่อยก็คือ คนที่หมดไฟจากความกดดันในที่ทำงานหรือจากการทำงานเดิมซ้ำๆเป็นเวลาหลายปี บุคลิกบางประเภท เช่นคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) หรือ คนที่มักมองโลกในแง่ร้าย ก็มีโอกาสในการ burnout ง่ายขึ้น

ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ทุกคนลองอ่านบทความเกี่ยวกับเรื่อง Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ที่จะเกิดได้บ่อยกับคนที่รักความสมบูรณ์แบบ ใครที่คิดว่าตัวเองหรือคนรอบข้างมีนิสัยแบบนี้ก็ควรจะนำข้อคิดจากบทความไปใช้สังเกตพฤติกรรมนะครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องออกตัวก่อนเลยก็คือ ผมไม่ใช่จิตแพทย์ และไม่สามารถให้คำแนะนำทางการแพทย์ได้ หากคุณเป็นคนที่มีอาการหมดไฟ เครียดจากภาระต่างๆจนไม่สามารถดำเนินหน้าที่ปัจจุบันของคุณได้ ผมแนะนำให้ติดต่อแพทย์ใกล้ตัว หรือลองอ่านบทความที่ทางโรงพยาบาลเขียนโดยตรง อย่าง โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช

ภัยอันตรายของ Burnout Syndrome – ข้อเสียและพฤติกรรมที่ควรสังเกตหากมีอาการหมดไฟ

ผมคิดว่าทุกคนก็มีหน้าที่และภาระที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ อาจจะเป็นภาระการเรียน การทำงาน หรือแม้แต่ความกดดันในครอบครัว ซึ่งหลายครั้งภาระเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกเครียด รู้สึกกดดัน แต่ การมี ‘ความเครียด’ อย่างเดียวก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะตกอยู่ในภาวะหมดไฟเสมอไป 

การที่คุณจะถูกจัดอยู๋ในประเภทของคนที่เป็น Burnout หรือ ภาวะหมดไฟ ได้นั้น คุณต้องมีอาการหลายๆอย่างดังนี้ประกอบกัน

อาการทางร่างกาย

รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรงอยู๋เสมอ
ภูมิต้านทานต่ำ ป่วยง่าย
ปวดหัวและปวดกล้ามเนื้อบ่อย
มีการเปลี่ยนแปลงในนิสัยการนอนและการทานอาหาร

อาการทางจิตใจ

รู้สึกล้มเหลว และมีการสงสัยตัวเอง
รู้สึกติดอยู่กับที่ รู้สึกพ่ายแพ้
รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครอยู่ข้างๆ
ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีอยากทำอะไร
มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น สงสัยคนอื่น
รู้สึกไม่พอใจในตัวเอง รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ

การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมต่างๆ

เริ่มละทิ้งภาระต่างๆมากขึ้น
ปลีกตัวออกห่างบุคคลรอบข้าง
มีความขี้เกียจมากขึ้น ใช้เวลาทำสิ่งเดิมๆนานขึ้น
ใช้การกิน ดื่มเหล้า หรือเสพยาเพื่อแก้เครียด
โทษคนอื่น นำอารมณ์เสียไปลงกับคนอื่น
เข้างานสายหรือออกจากงานเร็ว

ในส่วนนี้คุณต้องพิจารณาอยู่ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกก็คือคุณมีอาการเหล่านี้ ‘มากแค่ไหน’ และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือคุณมีอาการเหล่านี้มา ‘นานแค่ไหน’ เราเรียกการ burnout หรือ หมดไฟว่าเป็น ‘อาการ’ ก็เพราะพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่ดี หากคุณรู้สึกว่าในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คุณมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ หรือพฤติกรรม ตามคำอธิบายด้านบน ผมก็แนะนำให้คุณดูแลตัวเองให้ดีมากขึ้น

Burnout syndrome คือการสั่งสมความเครียดในระยะยาว อาจจะเป็นความเครียดเล็กน้อยแต่ละวันก็ได้ ซึ่งความเครียดแบบนี้จะถูกสะสมโดยที่คุณ ‘ไม่รู้ตัว‘ หมายความว่าการสังเกตตัวเองและรับรู้ล่วงหน้าว่าเรากำลังตกอยู่ในภาวะหมดไฟนั้นทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้นแล้ว หากคุณเริ่มสังเกตตัวเองว่ามีอาการเครียด การดูแลตัวเองที่ดีก็คือการหากิจกรรมคลายเครียดแบบง่ายๆ ที่คุณทำได้ทันที

แต่ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในประเภทของผู้ป่วยจากภาวะหมดไฟ ก็ไม่ได้หมายความว่าความเครียด ความกดดันที่คุณพบเจออยู่ตอนนี้ไม่สำคัญ อาจจะเป็นการหาเวลาพักผ่อนบ้าง หรือถ้าคุณคิดว่าคุณไม่อยู่ในสภาวะจิตใจหรือร่างกายที่สามารถรักษาความเครียดด้วยตัวเองได้ ผมก็แนะนำให้จูงมือคนรักพาไปปรึกษาแพทย์นะครับ

สำหรับคนที่กังวลว่าตัวเองหรือคนรอบข้างอาจมี burnout syndrome สามารถลองทำแบบประเมินภาวะหมดไฟจากศูนย์สุขภาพจิตได้ ตามลิงค์นี้ หรือในกรณีที่ลิงค์โหลดไม่ขึ้นก็สามารถดาวโหลดจากไฟล์ข้างล่างของผมได้

แบบประเมินภาวะหมดไฟ burnout syndrome จากศูนย์สุขภาพจิต

สาเหตุของ Burnout Syndrome – สถานการณ์และภาระต่างๆที่อาจทำให้คุณสั่งสมความเครียดจนหมดไฟ

Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟ สามารถเกิดได้จากความกดดันภายนอก เช่น ความเครียดจากการทำงานเป็นเวลานาน ความกดดันจากครอบครัว บุคลิกบางประเภท เช่นรักความสมบูรณ์แบบ ประเมินความสามารถตัวเองต่ำ คล้อยตามความต้องการคนอื่นมากเกินไป ก็ทำให้เราหมดไฟได้ง่าย

ในส่วนที่แล้วเราได้ทำความเข้าใจข้อเสียและวิธีการสังเกตอาการของภาวะหมดไฟแล้ว ในส่วนนี้เรามาลองดูสถานการณ์ต่างๆที่อาจทำให้คุณสั่งสมความเครียดจนหมดไฟ เป็น Burnout Syndrome

ความกดดันภายนอก

ความกดดันจากภายนอกสามารถมาได้หลายรูปแบบ เช่นภาระครอบครัว ความกดดันจากการเรียน แต่คนส่วนมากจะรู้สึก burnout กับการทำงานมากกว่า ตัวอย่างของความกดดันภายนอกที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟได้แก่ 

รับงานมามากเกินกว่าที่จะทำไหว ทำงานที่ซับซ้อน ต้องรีบเร่งทำงานให้เสร็จ ทำงานโดยได้ผลตอบแทนไม่เพียงพอ ทำงานที่ไม่มีใครเห็นคุณค่า ทำงานที่ผิดคุณธรรมศีลธรรมในใจเรา ทำงานที่เราไม่ยอมรับหรือไม่เห็นด้วย และการทำงานโดยไม่มีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

ภาวะกดดันภายนอกเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ คนบางคนเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดเห็นได้ ภาระบางอย่างเราก็ไม่สามารถทิ้งไปได้ทันที ในส่วนนี้ข้อแนะนำที่ดีก็คือการยอมรับความจริงและปรึกษาคนอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ ในบทความส่วนถัดไปผมจะมีข้อแนะนำที่จะช่วยให้คุณแก้ภาวะหมดไฟของตัวเองได้บ้าง

บุคลิกที่เสี่ยงกับภาวะหมดไฟ

คงจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่จะบอกว่าบางบุคลิกมีความเสี่ยงที่จะกดดันตัวเองหรือรู้สึกถูกกดดันมากกว่าบุคลิกอื่นเป็นพิเศษ 

บุคลิกที่เสี่ยงกับภาวะหมดไฟ ได้แก่ perfectionist (ผู้ชอบความสมบูรณ์แบบ) คนที่ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง มีความภูมิใจในตัวเองต่ำ คนที่เอาความสุขของตัวเองไปผูกกับความคิดผู้อื่นมากเกินไป และคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอกได้เลย

ส่วนมากแล้วภาวะหมดไฟก็จะมาจากทั้งความกดดันภายนอกและบุคลิกส่วนตัวผสมกัน ยกตัวอย่างเช่นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองพอถูกบังคับให้ทำงานยากๆก็จะรู้สึกหมดไฟ คนที่รักความสมบูรณ์แบบพอถูกบังคับให้ทำงานอย่างเร่งด่วน ไม่มีเวลาแก้ไข ก็อาจจะรู้สึกไม่พอใจในความสามารถของตัวเอง

นอกจากนั้นแล้ว ‘ระยะเวลา’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย หมายความว่าหากคุณเป็นคนที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความกดดันมาเป็นเวลานาน เช่นระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี โอกาสที่คุณจะถูกจัดอยู่ในภาวะหมดไฟก็มีเยอะกว่าในสถานการณ์ที่คุณอยู่ในภาวะกดดันเป็นเวลาไม่กี่วัน (การจัดการความเครียดในระยะสั้นก็สำคัญ แต่แค่อาจจะไม่ได้หมายความว่าคุณเป็น burnout syndrome)

วิธีแก้ Burnout Syndrome – 5 คำแนะนำที่จะช่วยคุณแก้ภาวะหมดไฟ

โดยเบื้องต้นแล้วหากเราสามารถควบคุมอารมณ์และความเครียดของตัวเองได้ โอกาสที่เราจะชนะภาวะหมดไฟได้ก็มีเยอะ บทความตัวนี้ผมมี 5 คำแนะนำที่จะช่วยคุณแก้ภาวะหมดไฟได้

ผมจำเป็นต้องอธิบาย (อีกรอบ) ว่าผมไม่ใช่แพทย์ และหากคุณกำลังเผชิญปัญหาภาวะหมดไฟที่รบกวนวิถีชีวิตประจำวันของคุณ เช่นทำงานไม่ได้ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง หรือรู้สึกเป็นอันตรายกับตัวเอง ผมแนะนำให้คุณหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญใกล้ตัวนะครับ

#1 ตอบคำถามว่า ‘ทำไม’ ให้ได้

ความน่ากลัวของโรคจากความเครียดต่างๆก็คือบางครั้งเราจะไม่สามารถหาเหตุผลได้ เรื่องส่วนมากก็เป็นเพราะว่าเรามัวแต่กังวลเรื่องปัญหาข้างหน้า จนลืมดึงตัวเองออกมามองภาพรวมใหญ่ ว่าพฤติกรรมหรือมุมมองของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว เหมือนปัญหาเส้นผมบังภูเขา

หากคุณกำลังรู้สึกเครียด โดยเฉพาะการเครียดเรื่องปัญหาต่างๆ การคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่การแบ่งเวลามาตอบคำถามตัวเองว่าทำไมเราถึงเครียด มีสาเหตุอะไรที่ทำให้เราเครียดมากกว่าปัญหาข้างหน้าหรือเปล่า ก็เป็นวิธีแสดงความรักให้กับตัวเองได้อย่างดีครับ

#2 เรียนรู้สิ่งที่เราทำได้ และเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ

หนึ่งในสาเหตุของภาวะหมดไฟก็คือการที่เราถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือเราไม่ถนัดเป็นเวลานาน 

สิ่งแรกที่คุณควรทำก็คือการสังเกตตัวเองว่าคุณเก่งอะไร และชอบทำอะไร เป็นเรื่องน่าแปลกที่บางคนยังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านี้เกี่ยวกับตัวเองได้เลย ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนมากก็จะหมดไฟโดยไม่รู้ตัว เพราะมัวแต่ทุ่มเทเวลากับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นกันทำงานให้ตัวเองไม่ชอบ จนลืมตอบคำถามที่สำคัญกว่าว่าสิ่งที่เราชอบธรรมคืออะไร

อีกหนึ่งสิ่งที่เราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการรับภาระหน้าที่ต่างๆ ก็คือการเข้าใจว่าวิธีแก้ปัญหามีหลายวิธี บางครั้งเราก็ไม่จำเป็นต้องรับภาระมาทำคนเดียวก็ได้ การขอให้คนอื่นช่วยหรือขอให้คนอื่นสอน ก็เป็นขั้นตอนการแก้ปัญหาที่จะช่วยเพิ่มทักษะและลดความเครียดให้คุณได้ในที่เดียวกัน 

เราสามารถปรึกษาหัวหน้า คุณครู หรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆได้ หรือหากคุณมีทรัพยากรและเวลามากหน่อย ก็อาจแก้ปัญหาด้วยการจ้างคนมาช่วยหรือแบ่งเวลามาเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

#3 พักผ่อน หรือหากเป็นไปได้ก็ให้หยุดการทำงาน

ผมคิดว่าเวลาเราเครียด เราก็คงไม่ได้อยากฟังคำแนะนำจากคนอื่นว่า ‘หยุดเครียดได้แล้ว’ เพราะสมองของมนุษย์ไม่ได้ทำงานเหมือนเครื่องจักรที่จะเปิดปิดสวิตช์เลิกคิดเรื่องต่างๆได้ง่ายๆ 

หากคุณเป็นคนที่เครียดจมอยู่กับภาระหน้าที่ต่างๆอยู่ตลอดเวลา ข้อแนะนำที่ดีก็คือการพักผ่อน หรือจะพูดให้ดีกว่าก็คือการหาอะไรมารบกวนจิตใจไม่ให้คิดเรื่องเครียด อาจจะเป็นการแบ่งเวลาไปอยู่กับครอบครัวบ้าง หรือแบ่งเวลาทำอะไรที่ตัวเองชอบบ้าง อย่างน้อยก็เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ทำให้ร่างกายและสมองเราได้รู้สึกพักผ่อน

สำหรับคนที่มีภาวะหมดไฟ แน่นอนว่าทางที่ดีที่สุดก็คือการหยุดทำงานไปสักพักหนึ่ง คนทำงานก็อาจจะลาพักไปเที่ยวต่างจังหวัด ต่างประเทศ คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียวมานานก็อาจจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆเพื่อหาเวลาไปพักผ่อนบ้าง 

และถ้าคุณเป็นคนที่มีเวลาพักผ่อนน้อย อีกหนึ่งวิธีก็คือการปรับมุมมองของเราให้สามารถรับรู้ความสุขได้มากขึ้น หากเวลาพักผ่อนเราไม่มี เราก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการพักผ่อน

#4 ปรับมุมมอง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัญหาความเครียดส่วนมากมาจากมุมมองในสมองของเราเอง เรามองว่าปัญหานี้แก้ได้ยาก มองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ทำให้เราไม่มีความสุข ถึงแม้ว่ามุมมองจะไม่ใช่สิ่งที่ปรับกันได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำให้ดีขึ้นเล็กน้อย วันละนิดหน่อยไม่ได้

การปรับมุมมองเพื่อแก้ปัญหาภาวะหมดไฟ เหมาะสำหรับบุคลิกที่ชอบกดดันตัวเอง ซึ่งผมก็ได้อธิบายไว้ในด้านบนของบทความแล้ว แต่การที่คุณจะเริ่มปรับมุมมองตัวเองได้ คุณก็ต้องยอมรับตัวเองก่อนว่ามุมมองที่คุณมีอยู่นั้นควรได้รับการดูแลแก้ไข 

ซึ่งวิธีปรับมุมมองก็มีหลายอย่าง แต่โดยรวมแล้วคำตอบส่วนมากก็มักจะอยู่ที่สติและสมาธิ ยิ่งสมองเรามีความชัดเจนมาเท่าไหร่ โอกาสที่เราจะกลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิมก็ทำได้ง่ายขึ้น บล็อกของผมมีหลายบทความที่เขียนขึ้นมาเพื่อช่วยคุณในเรื่องนี้ ผมจะทิ้งลิงค์ไปบทความอื่นๆไว้ตอนท้ายของบทความนี้นะครับ

สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากจะแนะนำก็คือ ‘ร่างกายที่แข็งแรง ก็จะทำให้จิตใจเราดีขึ้น’ ถ้าคุณรู้สึกตัวว่าคุณนอนไม่หลับ เครียดเรื่องปัญหาต่างๆ ผมแนะนำให้คุณเริ่มปรับในสิ่งที่ทำง่ายที่สุด คือการออกกำลังกายและควบคุมอาหารต่างๆ อาจจะเป็นการลดน้ำตาลนิดหน่อยแต่ละวัน ตื่นมาออกกำลังกายวันละ 10-20 นาที ก็ได้ครับ 

#5 พบแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

ภาวะหมดไฟส่วนมากจะถูก ‘วินิจฉัย’ เมื่อคนเราไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องปัญหา ความเครียด นอนไม่หลับ ปวดหัวบ่อย หรือ ป่วยบ่อย หากแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุด้านสุขภาพร่างกายได้ แพทย์ก็จะแนะนำให้ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาเฉพาะทาง 

การพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย คนที่ดูแลตัวเองคือคนที่มีความรับผิดชอบไม่ใช่คนที่อ่อนแอ และหากคุณคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นการเสียเวลา อาจจะเพราะคุณคิดว่าคุณมีงานเร่งด่วนที่ต้องรีบทำ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเยอะ ผมก็อยากจะบอกว่าหากคุณแก้ปัญหาภาวะหมดไฟและโรคเครียดได้ คุณก็จะทำงานได้ดีมากขึ้นและเร็วขึ้นแน่นอน 

ผมได้เขียนไว้ว่าเป็นการ ‘แก้ภาวะหมดไฟ’ แต่ก็ไม่มีวิธีแก้แบบไหนที่สามารถแก้ปัญหาให้คุณได้ตลอดไป…ตลอดชีวิต ต่อให้คุณฟื้นตัวจาก burnout syndrome มาครั้งหนึ่งแล้ว ยิ่งคุณมีอายุมากขึ้น มีภาระหน้าที่มากขึ้น ได้ลองอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยลองมาก่อน โอกาสที่คุณจะกลับไป burnout ใหม่ก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการดูแลตัวเองให้ดี ใส่ใจกับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง

ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ลองศึกษาบทความเรื่อง Mindfulness หรือ การฝึกสติเพื่อรับรู้ตัวเอง นะครับ

สุดท้ายนี้ผมมี 5 บทความที่ผมแนะนำให้คุณลองศึกษาเพิ่มเติมนะครับ 

Stoicism คืออะไร? การอดทนและควบคุมตนเอง แบบสโตอิก
วิธีสร้างความมั่นใจ ในทุกสถานการณ์
ความกลัวคืออะไร? เกิดจากอะไร? วิธีเอาชนะความกลัวมีอะไรบ้าง?
ความสุขคืออะไร? วิธีหาความสุขให้ตัวเอง
ทำไมเราต้องช่วยเหลือคนอื่น? 5 ประโยชน์ของการช่วยเหลือผู้อื่น

บทความล่าสุด