15 วิธีอยู่กับตัวเอง ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ให้มีความสุข

15 วิธีอยู่กับตัวเอง ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ให้มีความสุข

คำพูดที่ว่า ‘เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด’ ถึงแม้จะเป็นคำแนะนำที่ดี แต่แค่คำพูดประโยคเดียวคงไม่สามารถเป็นแนวทางให้คุณได้ตลอดเวลา ทั้งชีวิต บทความนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มี ‘คำคมสั้นๆได้ใจความ’ ผมก็หวังว่าจะทำให้ผู้อ่านทุกคนมีตัวเลือกมีวิธีการอยู่กับตัวเอง ใช้เวลากับตัวเอง มีความสุขกับตัวเองให้มากขึ้นได้

เรามาลองดู 15 วิธีอยู่กับตัวเอง ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ให้มีความสุข กันเลยครับ

Table of Contents

15 วิธีอยู่กับตัวเอง ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ให้มีความสุข

#1 หาเป้าหมายในชีวิต แต่ไม่ต้องผูกมัดกับผลลัพธ์

ใครๆต่างก็รู้กันว่า ‘เป้าหมายในชีวิต’ ทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น แต่การมีความหมายในชีวิตก็ไม่ได้แปลว่าเราจะมีความสุขเสมอไป ในส่วนนี้ก็เป็นเพราะว่าการมีความสุขจากเป้าหมายนั้นต้องมาจากสองปัจจัย ปัจจัยแรกก็คือเราต้องมีเป้าหมายที่เราชอบ คุ้มค่าสำหรับการทำตาม และปัจจัยที่สองก็คือ เราต้องไม่ผูกมัดกับผลลัพธ์ แต่เราต้องรักในการเดินทางหาเป้าหมาย

หมายความว่ายังไงกันนะ?

สมมุติว่าถ้าเป้าหมายของคุณคือการวิ่งมาราธอน เวลาคุณวิ่งแล้วคุณมีความสุข แต่ถ้าคุณเอาความสุขของคุณไปผูกกับ ความเร็วในการวิ่ง ระยะทางที่คุณควรจะวิ่งได้ ในวันที่คุณไม่สามารถทำตามสิ่งที่คุณต้องการได้แล้ว อาจจะบาดเจ็บ มีภาระครอบครัว หรืออะไรก็แล้วแต่ ความสุขนั้นก็จะหายไปทันที 

ในทางตรงข้าม หากคุณนำความสุขคุณไปผูกกับแค่การได้วิ่ง การได้ซ้อม การได้มีเวลาทำอะไรที่คุณชอบ คุณจะสนุกกับการวิ่งไล่ตามเป้าหมายโดยไม่เหนื่อย ไม่ท้อเลย

#2 การจัดลำดับของชีวิต และการให้เวลากับสิ่งที่ชอบ

ต่อจากข้อที่แล้ว หากคุณรู้แล้วว่าเป้าหมายในชีวิตคุณหรือสิ่งที่คุณชอบคืออะไร สิ่งถัดมาก็คือการแบ่งเวลาและการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆในชีวิต เบื้องต้นก็คือการลดสิ่งที่คุณไม่ชอบและการเพิ่มสิ่งที่คุณชอบ

ถึงแม้ว่าหลักการนี้ดูเหมือนเรียบง่าย แต่ทุกคนมีภาระและมีหน้าที่ประจำวันไม่เหมือนกัน บางคนมีเวลาในชีวิตน้อยเพราะต้องทุ่มเทให้กับครอบครัวและการทำงาน ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องยอมรับก่อนว่ากลุ่มคนที่มีภาระเยอะก็คงไม่สามารถทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตัวเองชอบได้เยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะเลิกทุ่มเททิ้งทุกอย่างที่ตัวเองชอบไปทั้งหมด

‘การจัดลำดับของชีวิต’ ยิ่งมีความสำคัญหากเรามีเวลาที่จำกัด หากคุณเป็นคนที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา คุณก็ควรหาเวลาเล็กๆน้อยๆ จะวันละหนึ่งชั่วโมง หรือสิบนาที ทำสิ่งที่ตัวเองรัก ในส่วนนี้ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง ความสมดุลของชีวิตกับการทำงาน สร้างได้ยังไง Work-Life Balance และ 15 วิธีทำงานอย่างมีความสุข ที่ไม่ยากอย่างที่คิด

#3 จับตัวเองให้ได้เวลาคิดลบ 

ใจของเราทำให้เรามีความสุขได้ ก็ทำให้เรามีความทุกข์ได้เช่นกัน หากการห้ามไม่ให้ตัวเองคิดลบ คิดแย่ คิดในแง่ไม่ดีนั้น เป็นเรื่องที่ทำยากสำหรับคุณ สิ่งที่คุณสามารถเริ่มได้ในวันนี้ก็คือ ‘การจับตัวเอง’ ก่อน

คนส่วนมากไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำว่ากำลังคิดลบอยู่ บางคนต้องวนเวียนกับความคิดนี้ไปหลายชั่วโมง หลายวัน หลายเดือน กว่าจะรู้ตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่คือการคิดลบ ในกรณีนี้การจับตัวเองจะช่วยให้คุณดึงสติกลับมาได้ง่ายมากกว่า

การจับตัวเองเวลาคิดลบเริ่มจากการที่คุณใส่ใจกับตัวเอง หากคุณเป็นคนที่ตามความคิดความรู้สึกตัวเองไม่ค่อยทัน สิ่งแรกที่ผมแนะนำก็คือให้ลองจดความคิดและอารมณ์ตัวเองทุกวันดู การเขียนและการเรียบเรียงความคิดจะทำให้คุณ ‘เปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึก’ ตัวเองได้ง่าย เดี๋ยวผมจะอธิบายเพิ่มเติมในข้อที่ 7 นะครับ

#4 อย่าเสพติดโดปามีน (dopamine) หรือ ‘ฮอโมนแห่งความสุข’

โดปามีน (dopamine) หรือ ‘ฮอโมนแห่งความสุข’ คือสารเคมีแห่งความสุข ที่ร่างกายเราผลิตเองได้ตามธรรมชาติ เป็นฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเรารู้สึกดีหลังจากที่เราวิ่งมาราธอนจบ สอบได้ที่หนึ่ง หรือได้เลื่อนขั้นในที่ทำงาน แต่ก็เป็นฮอร์โมนตัวเดียวกันที่เราได้จากสารเสพติดอย่างเหล้า บุหรี่ หรือแม้แต่ ยาเสพติด (การเล่นพนันก็ทำให้ร่างกายเราเกิดโดปามีนได้)

คำถามก็คือ dopamine เกี่ยวอะไรกับการอยู่กับตัวเอง ใช้เวลากับตัวเอง 

ในส่วนนี้สิ่งที่เราต้องระวังเวลาเราอยู่กับตัวเอง ใช้เวลากับตัวเอง ก็คือ ‘การเสพติด’ อะไรมากเกินไป การอยู่คนเดียวบางครั้งทำให้เราสามารถบริหารเวลาของตัวเองได้เยอะขึ้น ซึ่งก็ถ้าเราไม่ระวัง เราก็จะทุ่มเทเวลาไปกันการทำอะไรบางอย่างแค่อย่างเดียว 

การทุ่มเทเป็นสิ่งที่ดี การทำในสิ่งที่เรารักก็เป็นสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายแล้วหากเราทำอะไรมากเกินไป ผลลัพธ์ก็อาจจะออกมาแย่ได้ การอยู่คนเดียวก็คือการเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองและจัดตารางชีวิตให้บาลานซ์

#5 ‘การพักผ่อนเติมพลัง’ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง

สำหรับบางคนที่รู้สึกผิดเวลาอยู่คนเดียว อาจจะคิดว่าเป็นการเสียโอกาสการเรียนรู้ เสียโอกาสการท่องเที่ยว ลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งส่วนมากน่าจะมาจากนิสัยชอบเข้าสังคม (extrovert) หรือนิสัยชอบท้าทายตัวเอง (Type-A Personality)

มุมมองที่อยากให้ทุกคนเข้าใจก็คือร่างกายคนเรามีพลังงานอย่างจำกัด เพราะฉะนั้นการหาเวลาอยู่คนเดียว ทำอะไรที่ตัวเองชอบ ให้เวลากับตัวเองก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เป็นการเติมพลังให้กับร่างกายอย่างหนึ่ง

คำเปรียบเทียบที่ดีก็คือให้มองเหมือนร่างกายเราเป็นเครื่องจักร ส่วนเราเป็นช่างเดินเครื่อง และการให้เวลาซ่อมแซมเครื่องก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของคนเดินเครื่องจักรเช่นกัน 

#6 ค้นพบตัวเอง ครั้งแล้วครั้งเล่า

การตามหาตัวเอง ตอบคำถามว่าตัวเองชอบอะไร ต้องการอะไร เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การค้นพบตัวเองก็ไม่ใช่สิ่งที่เราทำแค่ครั้งเดียวแล้วจบเลย ทุกครั้งที่เราโตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น มีประสบการณ์เยอะขึ้น ความชอบ ความต้องการของเราก็อาจจะเปลี่ยนได้

หากคุณมีเวลาให้กับตัวเอง คุณก็ควรใช้เวลานี้เพื่อตอบคำถามว่าเราชอบอะไร ต้องการอะไร เราอาจจะคิดว่าเรารู้จักตัวเองดีที่สุด แต่คุณตามตัวเองที่โตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้นทันมากแค่ไหน หรือคุณรู้จักแค่ตัวคุณเมื่อห้าปี สิบปีที่แล้วอยู่

การหาตัวเอง ค้นพบตัวเองต้องทำเรื่อยๆครับ

#7 รับรู้อารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง

ในส่วนที่แล้วเราพูดถึงเป้าหมายในชีวิตไปแล้ว ในส่วนนี้เราก็ต้องดูอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองด้วย 

ถึงแม้ว่าอารมณ์และความรู้สึกจะ ‘เป็นของเรา’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะรู้ตัวหรือควบคุมสิ่งพวกนี้ได้ เราอาจจะรู้ว่าเราหิวอยู่ แต่บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังเศร้า หรือ โมโหอยู่ และการที่เราไม่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกช่วงนี้ก็จะทำให้เรารู้สึกสับสน ไม่เป็นตัวของตัวเองแม้จะอยู่กับตัวเอง 

ข้อดีของการใช้เวลากับตัวเองก็คือเราไม่จำเป็นที่จะต้องปิดบังความรู้สึกเพราะกลัวคนรอบข้างตัดสิน หากคุณเป็นคนที่จับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองได้ยากก็ให้ลองใช้วิธีจดเหมือนที่ผมเคยแนะนำไว้ นอกเหนือจากนั้นก็ ‘ทดสอบ’ ได้ อะไรที่คุณชอบคุณก็ลองทำให้มากขึ้น อะไรที่คุณรู้สึกไม่ค่อยดีคุณก็ทำให้น้อยลง หากความรู้สึกของคุณออกมาดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ตัวเองอย่างหนึ่ง

#8 การยอมรับตัวเอง

มาถึงแล้วตอนนี้คุณก็จะรู้วิธีหาสิ่งที่คุณชอบ รับรู้อารมณ์และความรู้สึกตัวเอง ซึ่งก็จะทำให้เราเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปก็คือการยอมรับตัวเองในสิ่งที่เราเป็น

การยอมรับตัวเอง หมายความว่าเราเข้าใจข้อดีข้อเสียของตัวเอง เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ดี และเรารู้ว่าข้อจำกัดของตัวเองคืออะไรบ้าง หากคุณรู้คุณเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร คุณก็จะสามารถใจดีกับตัวเองได้ง่ายขึ้น แปลว่าจะไม่ต้องกดดันตัวเองเกินความเป็นจริง ตราบใดที่เรายังซื่อสัตย์และจริงจังกับทุกสิ่งที่เราทำเสมอ เราก็จะสามารถมีความสุขด้วยการยอมรับตัวเองได้ 

หากคุณยังคิดว่าคุณกดดันตัวเองมากเกินไปอยู่ (เน้นว่ามากเกินไป เช่นกดดันจนเครียดนอนไม่หลับ ปวดท้อง มีผลข้างเคียงแย่ๆอย่างอื่น) ผมแนะนำให้กลับไปดูข้อก่อนหน้านี้ แต่หากคุณเริ่มยอมรับตัวเองได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะใช้เวลาในการหาความสุขให้กับตัวเอง หาวิธีพัฒนาข้อด้อยและก้าวผ่านข้อจำกัดให้ได้

#9 การให้รางวัลตัวเอง

ความคิดทำร้ายตัวเองได้แย่ที่สุดก็คือการที่คุณมองว่า ‘ตัวเองไม่สำคัญ’ และการที่จะหยุดความคิดแบบนี้คุณต้องหาวิธีให้รางวัลตัวเองอยู่เสมอ ใจดีกับตัวเอง และดูแลตัวเองให้ดี

สิ่งที่สามารถเริ่มได้วันนี้เลยก็คือการเฉลิมฉลองกับความสำเร็จเล็กๆน้อยๆในชีวิต อาจจะเป็นการฉลองที่อ่านหนังสือเพิ่ม 1 หน้า หรือหนึ่งบท การลองออกกำลังกายท่าใหม่ๆ (หรือการลองเริ่มออกกำลังกาย) ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นความสำเร็จที่ (คุณคิดว่า) ดูไม่มีค่าในสายตาคนอื่น แต่ถ้าคุณคิดว่าความสำเร็จนี้ทำให้มีความสุข ภูมิใจ หรือรู้สึกกำลังก้าวหน้า คุณก็ควรฉลองและให้รางวัลตัวเอง เช่นการออกไปกินอะไรอร่อยๆ การให้เวลาตัวเองพักผ่อน การทำอะไรที่คุณชอบ

ส่วนนิยามว่าอะไรคือสิ่งที่ควรฉลอง และเราควรฉลองด้วยอะไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองเลย การให้รางวัลตัวเองเพื่อหาความสุขนั้นคุณต้องออกแบบเอง ในส่วนนี้ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง กำลังใจสำคัญอย่างไร นะครับ

#10 การไม่เอาความสุขไปผูกอยู่กับคนอื่น สองวิธี

เราได้ยินเสมอว่าเราไม่ควรเอาความสุขตัวเองไปผูกอยู่กับคนอื่น ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ ‘พูดง่ายแต่ทำยาก’ ในส่วนนี้สิ่งที่เราสามารถเริ่มทำได้มีอยู่ 2 อย่าง

สิ่งแรกก็คือการ ไม่ทำอะไรไม่ที่เราไม่ชอบ เพื่อทำให้คนอื่นมีความสุข หมายความว่าของสิ่งไหนที่ไม่ใช่ภาระ หน้าที่ หรือความต้องการของคุณ หากคุณไม่ได้อยากทำคุณก็ต้องรับรู้ไว้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องทำ อาจจะต้องเริ่มจากการรู้จักปฏิเสธคนอื่นก่อน แต่ถ้าคุณยังไม่กล้าปฏิเสธก็อาจจะเริ่มจากการลดปริมาณสิ่งที่ทำให้แทน

สิ่งที่สองก็คือการ ไม่นำความคิดเห็นของคนอื่น มาลดคุณค่าของตัวเอง ทุกคนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองทั้งนั้น บางครั้งความคิดเห็นของคนอื่นก็อาจจะไม่ตรงกับความจริงและสิ่งที่เราเป็น ยิ่งถ้าคนนั้นไม่ใช่คนที่สำคัญสำหรับเรา เราก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องนำความคิดเห็นคนอื่นมาทำร้ายตัวเอง ความคิดเห็นมีไว้เพื่อ ‘เป็นมุมมองเสริม’ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องถือนานๆเพื่อทำร้ายตัวเอง

ผมขอย้ำว่าทั้งสองอย่างนี้คือข้อแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตนะครับ แต่หากสิ่งไหนเป็นหน้าที่ ความรับผิดชอบ หรือสิ่งที่เราสมควรต้องทำ ในส่วนนี้คงไม่มีข้อแนะนำการใช้ชีวิตแบบไหนที่ช่วยคุณได้นอกจากการ ‘รีบทำให้ดีและเร็วที่สุด จะได้ไม่ต้องทนนานๆ’

#11 หาความสุขให้กับตัวเองทุกวัน

ผมอธิบายไปเยอะแล้วว่า ‘ความสุขเล็กๆน้อยๆ ก็มีค่า’ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยังไงก็ตาม คุณก็ควรหาความสุขให้กับตัวเองทุกวัน อาจจะไม่ใช่อะไรยิ่งใหญ่เหมือนการไปเที่ยวเมืองนอก หรือการซื้อรถหรู แต่การดูวิดิโอตลกๆวันละสิบนาที หรือการหาของอร่อยกินทุกวัน ก็สำคัญกว่าที่เราคิด

ความสุขเล็กๆน้อยๆเหมือนกับการเติมน้ำมันให้กับชีวิต ถ้าเราไม่รู้จักเก็บเกี่ยวความสุขพวกนี้ เราก็จะไม่มีกำลังใจ แรงใจไปทำภารกิจอื่นในชีวิต 

คุณควรหาให้ได้ว่าความสุขแบบไหนที่คุณสามารถทำได้ในเวลาสั้นๆ แต่เป็นการเพิ่มกำลังใจให้คุณได้เยอะ จะเรียกว่าเป็น ‘กิจกรรมเพิ่มความสุขอย่างมีประสิทธิภาพ’ ก็ได้ ให้หาเวลาทำกิจกรรมพวกนี้ทุกวัน ถ้าคุณมีหลายกิจกรรมแบบนี้ก็ให้ทำสลับกันไปเรื่อยๆครับ

#12 ลด ‘ความไม่ดี’ ออกไปจากชีวิตบ้าง

การที่จะอยู่กับตัวเองให้มีความสุข เราก็ต้องลดสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุขออกไปจากชีวิตด้วย 

ความไม่ดีในชีวิตมาได้ในหลายรูปแบบ บางครั้งก็มาในรูปแบบของคนรอบข้าง อาจจะประพฤติตัวไม่ดี หวังไม่ดีกับเรา แน่นอนว่าทางที่ดีที่สุดก็คือการตัดคนพวกนี้ออกไปจากชีวิต แต่บางครั้งการตัดอะไรออกไปหมดเลยก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นอีกทางเลือกหนึ่งก็คือการลดการปฏิสัมพันธ์กัน 

ให้ลองสังเกตดูว่าสิ่งไหนในชีวิต (ไม่ได้จำกัดแค่ผู้คน อาจจะรวมถึงสิ่งต่างๆที่คุณทำหรือพบเจอทุกวัน) ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หากเราไม่สามารถปรับมุมมองความคิดของเราให้ยอมรับสิ่งนั้นได้ ตัวเลือกที่ดีรองลงมาก็คือการลดความไม่ดีเหล่านั้นออกไปจากชีวิตบ้าง

#13 สุขภาพกายที่ดีจะทำให้สุขภาพจิตดีตาม

ในสมัยนี้หลายคนคงเริ่มยอมรับแล้วว่าสุขภาพกายที่ดีจะทำให้สุขภาพจิตเราดีขึ้น ร่างกายที่ได้รับการพักผ่อน นอนอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้สมองเรารู้สึกเครียดน้อยลง 

หากคุณรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง สิ่งที่คุณสามารถทำได้ และควบคุมได้ก็คือตารางการออกกำลังกาย และสารอาหารที่คุณรับเข้าไป และสำหรับคนส่วนมาก ‘การนอนให้เพียงพอ’ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้กันไม่ยากนัก หาคุณสามารถตอบโจทย์สุขภาพร่างกายที่ดีได้ สุขภาพจิตใจของคุณก็จะดีขึ้นตาม วิธีนี้เป็นการส่งเสริมข้อแนะนำอื่นๆที่ผมเขียนไว้ในบทความนี้ได้อย่างดี

เพราะฉะนั้นให้เริ่มจัดตารางอาหาร ตารางออกกำลังกาย และตารางนอนของคุณ ทุกอย่างอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่วันแรก แต่รับรองว่าถ้าคุณใส่ใจกับสิ่งพวกนี้ ‘ทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างแน่นอน’

#14 จำไว้ว่าความสุขจากการอยู่กับตัวเองนั้นมีมากกว่าที่คุณคิด

มีหลายคำที่ใช้อธิบายความสุขกับการอยู่กับตัวเอง เช่นการอยู่กับปัจจุบัน การพอใจในสิ่งที่มี คำพูดเหล่านี้อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่าวิธีการหาความสุขต้องหาจาก ‘ข้างในเท่านั้น’ 

ผมคิดว่านิยามของความสุขมีเยอะมากกว่านั้น เราดูหนังตลกก็มีความสุข เรากินของอร่อยก็มีความสุข เรานั่งสมาธิมีความสงบ…ก็มีความสุข 

หมายความว่าการอยู่กับตัวเองไม่ได้แปลว่าคุณต้องอยู่กับที่ อาจจะเป็นการออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรืออาจจะเป็นการที่คุณไม่ทำอะไรเลย นอนเล่นอยู่กับบ้านก็มีความสุขได้เช่นกัน ความสุขเกิดขึ้นได้ทุกที่ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องผูกมัดอยู่กับที่ด้วย

ในส่วนนี้ผมอยากให้ทุกคนลองนิยามความสุขของตัวเอง และหลังจากนิยามเสร็จแล้วก็ให้ลองหากิจกรรมที่ทำให้ตัวเองมีความสุขให้เจอให้ได้ หากคุณเจอแล้ว คุณก็จะอยู่กับตัวเอง ใช้เวลากับตัวเองได้อย่างมีความสุข ลองอ่านบทความนี้ของผมได้ครับ ความสุขคืออะไร? วิธีหาความสุขให้ตัวเอง

#15 หาบาลานซ์ระหว่างอารมณ์และเหตุผลที่เหมาะกับคุณ

สมองฝั่งซ้ายและสมองฝั่งขวาของแต่ละคนทำงานไม่เหมือนกัน และทำงานไม่เท่ากัน บางคนสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่า บางคนก็สามารถเข้าถึงเหตุผลได้เยอะกว่า ในส่วนนี้ผมคิดว่าคงไม่มีตัวเลขหรือคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์ที่จะบอกได้ว่าเท่าไหร่ถึงจะดีพอ แต่ละคนจำเป็นที่จะต้องหาจุดพอดีของตัวเองว่าอารมณ์และเหตุผลที่พอเหมาะสำหรับตัวเราคือเท่าไร

บางปัญหาอาจจะต้องใช้อารมณ์ในการแก้ บางปัญหาก็ต้องใช้เหตุผลในการแก้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณถนัดวิธีแบบไหน และวิธีแบบไหนน่าจะมีประสิทธิภาพที่สุด 

สุดท้ายแล้วคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เวลากับตัวเอง หาความสุขให้ตัวเอง ก็อยู่ที่ ‘การสังเกตตัวเอง’ หาจุดพอดีสำหรับตัวเอง เพราะไม่ว่าคนอื่นจะให้คำแนะนำดีแค่ไหน สุดท้ายก็เป็นที่สมองและจิตใจของเราที่จะบอกว่าเราชอบอะไร มีความสุขกับอะไร สบายใจกับอะไร 

การหาจุดพอดีทำได้หลายวิธี เช่นการสังเกตตัวเอง การให้โอกาสตัวเองลองทำอะไรใหม่ๆ หรือแม้แต่การพูดคุยกับคนอื่นเพื่อซึมซับประสบการณ์ ลองเปิดใจให้กว้างและถามตัวเองดูนะครับว่า ‘ตัวเองแบบไหน’ ที่คุณอยากจะอยู่ด้วย

หากคุณชอบบทความนี้ ผมแนะนำให้อ่าน
72 วิธีใช้ชีวิตพอเพียงและเรียบง่าย ที่เราเริ่มได้ทันที
เบื่อชีวิตเดิมๆ – เมื่อชีวิตวนลูปทุกวัน เราจะแก้ยังไงดี [Groundhog Day]
40 วิธีทําใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน

บทความล่าสุด